คำฟ้องและคำขอท้ายฟ้องเป็นกรณีขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ สืบเนื่องมาจากจำเลยที่ ๑ โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ ๒ โดยเสน่หาทั้งแปลง ไม่ใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องร้องขอให้บังคับหรือไม่บังคับตามสัญญาให้ที่โจทก์กับจำเลยทั้งสองเป็นคู่สัญญาที่ก่อนิติสัมพันธ์กันเอง การที่จำเลยทั้งสองนำสืบว่าจำเลยที่ ๑ ขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ ๒ ในราคา ๔๐๐,๐๐๐ บาท แต่เพื่อให้เสียค่าธรรมเนียมน้อยลงจึงแจ้งเจ้าพนักงานที่ดินว่า เป็นการให้แทนการซื้อขายนั้น เป็นกรณีที่จำเลยทั้งสองนำสืบถึงเจตนาที่แท้จริงของการทำนิติกรรมหรือมูลเหตุที่มาของการทำสัญญาให้ระหว่างจำเลยทั้งสอง และสัญญาให้ที่ดินจะระบุว่า จำเลยที่ ๑ ยกที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ ๒ โดยไม่มีค่าตอบแทน เพราะผู้รับการให้เป็นหลานของผู้ให้จำเลยทั้งสองก็มีสิทธินำสืบพยานบุคคลให้เห็นว่า การให้ที่ดินพิพาทตามสัญญาให้เป็นการให้ที่ดินโดยมีค่าภาระติดพันได้ กรณีจึงไม่ใช่เป็นการนำสืบพยานบุคคลแก้ไขเปลี่ยนแปลงเอกสารอันจะเป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๙๔(ข) และ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.๒๕๕๓ มาตรา ๖ ศาลอุทธรณ์ภาค ๕ จึงมีอำนาจวินิจฉัยว่า การโอนที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยทั้งสองด้วยกันเป็นการโอนโดยเสียค่าตอบแทน เมื่อจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกกระทำโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน โจทก์จึงฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยทั้งสองมิได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๘๐ วรรคหนึ่ง ตอนท้าย

เพิ่มเติม
                คดีนี้มีการยื่นฟ้องก่อนมีแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๒๗) พ.ศ. ๒๕๕๘ การฎีกาจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงเนื่องจากมีทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท ข้อเท็จจริงจึงยุติไปตามศาลอุทธรณ์ภาค ๕ ว่า จำเลยที่ ๒ กระทำการโดยสุจริต ซึ่งเป็นปัญหาข้อเท็จจริง
                ปัญหาที่มาสู่ศาลฎีกามีเป็นปัญหาข้อกฎหมายว่า จำเลยทั้งสองสามารถนำสืบพยานบุคคลว่า หนังสือสัญญาให้ที่ดินแท้จริงแล้ว เป็นนิติกรรมที่จำเลยที่ ๑ ขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ ๒ ได้หรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า จำเลยทั้งสองนำสืบพยานบุคคลเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมหนังสือสัญญาให้ที่ดินจากที่ระบุว่าเป็นการยกให้โดยเสน่หาไม่มีค่าตอบแทนมาเป็นการให้โดยมีค่าตอบแทนหรือเป็นการซื้อขายที่ดินอันเป็นการผิดแผกแตกต่างไปจากข้อความที่ระบุไว้ในสัญญาให้ที่ดินนั้นไม่ได้ เนื่องจากต้องห้ามตาม ป.วิ.พ.มาตรา ๙๔ ซึ่งบัญญัติว่า
                “เมื่อใดมีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง ห้ามมิให้ศาลยอมรับฟังพยานบุคคลในกรณีอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ แม้ถึงว่าคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งจะได้ยินยอมก็ดี
                (ก) ขอสืบพยานบุคคลแทนพยานเอกสาร เมื่อไม่สามารถนำเอกสารมาแสดง
                (ข) ขอสืบพยานบุคคลประกอบข้ออ้างอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อได้นำเอกสารมาแสดงแล้วว่า ยังมีข้อความเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารนั้นอยู่อีก
                แต่ว่าบทบัญญัติแห่งมาตรานี้ มิให้ใช้บังคับในกรณีที่บัญญัติไว้ในอนุมาตรา (๒) แห่งมาตรา ๙๓ และมิให้ถือว่าเป็นการตัดสิทธิคู่ความในอันที่จะกล่าวอ้างและนำพยานบุคคลมาสืบประกอบข้ออ้างว่า พยานเอกสารที่แสดงนั้นเป็นเอกสารปลอมหรือไม่ถูกต้องทั้งหมด หรือแต่บางส่วน หรือสัญญาหรือหนี้อย่างอื่นที่ระบุไว้ในเอกสารนั้นไม่สมบูรณ์ หรือคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตีความหมายผิด”
               
การสืบพยานบุคคลแทนพยานเอกสาร
                กรณีที่มีกฎหมายบังคับให้ต้องมีเอกสารมาแสดง ได้แก่ กรณีที่กฎหมายบังคับว่าต้องทำเป็นหนังสือหรือทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญ
                กรณีที่กฎหมายบังคับว่าต้องทำเป็นหนังสือ เช่น
                 การโอนสิทธิเรียกร้อง ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๓๐๖
                สัญญาเช่าซื้อตาม ป.พ.พ. มาตรา ๕๗๒
                การบอกกล่าวบังคับจำนองตาม ป.พ.พ. มาตรา ๗๒๘
                การตั้งตัวแทนในกิจกรรมที่ต้องทำเป็นหนังสือตาม ป.พ.พ. มาตรา ๗๙๘ วรรคแรก
                 ตั๋วเงินตาม ป.พ.พ. มาตรา ๘๙๘ และ ๙๐๐  
                พินัยกรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๖๕๖  
                การโอนหุ้นชนิดระบุชื่อตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๑๒๙  
                การมอบอำนาจให้ฟ้องคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๖๐ วรรคสอง

                กรณีที่กฎหมายบังคับว่าต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เช่น
                สัญญาซื้อขาย แลกเปลี่ยน ให้ ซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ชนิดพิเศษตาม ป.พ.พ. มาตรา ๔๕๖, ๕๑๙ ๕๒๕  
                จำนองตาม ป.พ.พ. มาตรา ๗๑๔

                กรณีที่กฎหมายบังคับว่าต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิด มิฉะนั้นจะฟ้องร้องบังคับคดีไม่ได้ เช่น
                สัญญาจะซื้อจะขายอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ชนิดพิเศษตาม ป.พ.พ. มาตรา ๔๕๖  
                สัญญาซื้อขายสังหาริมทรัพย์ที่มีราคาตั้งแต่ ๒๐,๐๐๐ บาทขึ้นไป ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๔๕๖ วรรคท้าย
                เช่าอสังหาริมทรัพย์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๕๓๘  
                กู้ยืมเงินกว่า ๒,๐๐๐ บาทขึ้นไป และการนำสืบการใช้เงินตาม ป.พ.พ. มาตรา ๖๕๓
                ค้ำประกันตาม ป.พ.พ. มาตรา ๖๘๐  
                การตั้งตัวแทนในกิจการที่ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือตาม ป.พ.พ. มาตรา ๗๙๘ วรรคสอง
                สัญญาประนีประนอมยอมความตาม ป.พ.พ. มาตรา ๘๕๑
                ประกันภัยตาม ป.พ.พ. มาตรา ๘๖๗  
                สัญญาแบ่งมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๗๕๐ วรรคสอง

อ้างอิง
วิเชียร ดิเรกอุดมศักดิ์. กฎมายพยานพิสดาร (ฉบับปรับปรุงใหม่ ปี ๒๕๖๑). กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์แสงจันทร์การพิมพ์, ๒๕๖๑.