ก่อนจับกุมจำเลยเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรเมืองร้อยเอ็ด พบการกระทำความผิดของ ม. และ บ. ก่อน จึงมีการขยายผลสืบสวนและมีการวางแผนให้ ม. และ บ. โทรศัพท์ไปสั่งซื้อเมทแอมเฟตามีนจากผู้ค้ายาเสพติดชาวลาว โดยมีการตกลงซื้อขายและนัดส่งมอบเมทแอมเฟตามีนกันที่สถานีขนส่งอำเภอเมืองร้อยเอ็ด แต่เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจชุดจับกุมนำกำลังไปดักซุ่มรอแล้วมีการนัดหมายเปลี่ยนสถานที่ส่งมอบเป็นสถานีขนส่งอำเภอโพนทอง เจ้าพนักงานตำรวจจึงติดตามไป จนกระทั่งสามารถติดตามจับกุมจำเลยพร้อมเมทแอมเฟตามีนของกลางได้ที่สถานีขนส่งอำเภอโพนทอง กรณีเป็นความผิดต่อเนื่องและการกระทำต่อเนื่องเกี่ยวพันกันทั้งในท้องที่สถานีตำรวจภูธรเมืองร้อยเอ็ด ซึ่งเป็นท้องที่ที่ บ. โทรศัพท์ติดต่อล่อซื้อเมทแอมเฟตามีน และสถานีตำรวจภูธรโพนทอง ซึ่งเป็นท้องที่ที่จับกุมจำเลยได้ เช่นนี้ พนักงานสอบสวนในท้องที่ใดท่องที่หนึ่งที่เกี่ยวข้องจึงมีอำนาจสอบสวนได้ พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองร้อยเอ็ดจึงมีอำนาจสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๙ (๓) การสอบสวนย่อมเป็นไปโดยชอบ โจทก์มีอำนาจฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๒๐

เพิ่มเติม
                ความผิดต่อเนื่อง คือ ความผิดที่เกิดจากการกระทำที่มีสภาพติดต่อสืบเนื่องกันคงตัวอยู่ชั่วระยะหนึ่ง
                ฎีกาที่ ๘๘๘/๒๕๐๗ (ประชุมใหญ่) การกระทำผิดฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองนั้นจำเลยย่อมจะได้กระทำผิดนับแต่วาระแรกที่ได้ปืนนั้นมาไว้ในครอบครอง และเป็นความผิดอยู่เรื่อยไปจนกระทั่งจำเลยถูกจับได้พร้อมอาวุธปืน
                การสอบสวนไม่เป็นไปตามมาตรา ๑๙ วรรคสาม ถือว่าไม่มีการสอบสวนคดีนั้นโดยชอบ พนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้อง(ฎีกาที่ ๑๙๗๔/๒๕๓๙)
               
อ้างอิง
เกียรติขจร วัจนะสวัสดิ์. คำอธิบายหลักกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาว่าด้วยการดำเนินคดีในขั้นตอนก่อนการพิจารณา พิมพ์ครั้งที่ ๗ แก้ไขเพิ่มเติม. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์พลสยามพริ้นติ้ง, ๒๕๕๓.

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
                มาตรา ๑๘  ในจังหวัดอื่นนอกจากจังหวัดพระนครและจังหวัดธนบุรี พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่ ปลัดอำเภอ และข้าราชการตำรวจซึ่งมียศตั้งแต่ชั้นนายร้อยตำรวจตรีหรือเทียบเท่านายร้อยตำรวจตรีขึ้นไป มีอำนาจสอบสวนความผิดอาญาซึ่งได้เกิด หรืออ้าง หรือเชื่อว่าได้เกิดภายในเขตอำนาจของตน หรือผู้ต้องหามีที่อยู่ หรือถูกจับภายในเขตอำนาจของตนได้
                มาตรา ๑๙  ในกรณีดังต่อไปนี้
                (๓) เมื่อความผิดนั้นเป็นความผิดต่อเนื่องและกระทำต่อเนื่องกันในท้องที่ต่าง ๆ เกินกว่าท้องที่หนึ่งขึ้นไป
                พนักงานสอบสวนในท้องที่หนึ่งท้องที่ใดที่เกี่ยวข้องมีอำนาจสอบสวนได้
                ในกรณีข้างต้นพนักงานสอบสวนต่อไปนี้ เป็นผู้รับผิดชอบในการสอบสวน
                (ก) ถ้าจับผู้ต้องหาได้แล้ว คือพนักงานสอบสวนซึ่งท้องที่ที่จับได้อยู่ในเขตอำนาจ

                (ข) ถ้าจับผู้ต้องหายังไม่ได้ คือพนักงานสอบสวนซึ่งท้องที่ที่พบการกระทำผิดก่อนอยู่ในเขตอำนาจ