สัญญาจ้างบริหาร ข้อ ๓.๒ ระบุว่า ผู้ว่าจ้างอาจพิจารณาจ่ายค่าตอบแทนพิเศษประจำปีตามผลประกอบการของโรงพิมพ์และผลการประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้รับจ้าง ข้อสัญญาดังกล่าวไม่ได้มีถ้อยคำที่เป็นการผูกมัดโรงพิมพ์ว่าจะต้องจ่ายค่าตอบแทนพิเศษประจำปีแก่โจทก์ทุกปี แต่กลับเป็นการให้สิทธิแก่โรงพิมพ์เพียงฝ่ายเดียวในการพิจารณาว่าจะจ่ายค่าตอบแทนพิเศษประจำปีแก่โจทก์หรือไม่ แม้ข้อสัญญาจ้างผู้บริหารโรงพิมพ์มีถ้อยคำต่อไปว่า... จ่ายค่าตอบแทนพิเศษประจำปีตามผลประกอบการของโรงพิมพ์และผลการประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้จับจ้างตามหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินของคณะกรรมการโรงพิมพ์ในอัตราไม่เกินร้อยละ ๓๐ ของค่าตอบแทนรวมในแต่ละปี ก็เป็นการกล่าวถึงหลักเกณฑ์ในการกำหนดจำนวนค่าตอบแทนพิเศษประจำปีหลังจากที่มีการพิจารณาว่าจะจ่ายค่าตอบแทนแก่โจทก์แล้วเท่านั้น เมื่อคณะกรรมการโรงพิมพ์เห็นว่าโจทก์ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้โรงพิมพ์ได้รับความเสียหาย และมีมติไม่จ่ายค่าตอบแทนพิเศษประจำปีสำหรับการปฏิบัติงานในปีที่ ๒ แก่โจทก์ อันเป็นการใช้สิทธิโดยชอบตามสัญญาข้อ ๓.๒ ย่อมไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์จะฟ้องเรียกค่าตอบแทนพิเศษประจำปีไม่ได้
                ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องที่ว่า จำเลยใช้สิทธิโดยชอบตามสัญญาไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้คู่ความไม่ได้ฎีกา ศาลฎีกาก็ยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๒(๕) ประกอบมาตรา ๒๔๖,๒๔๗(เดิม)

ข้อเท็จจริง
                สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายมีหน้าที่กำกับดูแลโรงพิมพ์ตำรวจ ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจในสังกัดของจำเลย
                สัญญาจ้างบริหาร ข้อ ๓.๒ ระบุว่า ผู้ว่าจ้างอาจพิจารณาจ่ายค่าตอบแทนพิเศษประจำปีตามผลประกอบการของโรงพิมพ์ตำรวจและผลการประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้รับจ้างตามหลักเกณฑ์.......ถือว่า สัญญาจ้างบริหารโรงพิมพ์ให้สิทธิแก่โรงพิมพ์เพียงฝ่ายเดียวในการพิจารณาว่าจะจ่ายค่าตอบแทนพิเศษประจำปีแก่โจทก์หรือไม่
               
                อำนาจฟ้องมีกฎหมายที่จะต้องนำมาพิจารณาทั้ง ๒ ส่วน คือ
                ๑.กฎหมายแพ่ง หมายถึง กฎหมายสารบัญญัติที่เป็นส่วนแพ่งทั้งหมด และ
                ๒.ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
                ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๕๕ ตามบทบัญญัติดังกล่าว จะเห็นได้ ไม่ว่ากรณีที่จะมีข้อพิพาทเป็นคดีได้นั้น มีทั้งการโต้แย้งสิทธิกับการโต้แย้งหน้าที่ แต่ส่วนใหญ่มักจะพูดกันแต่เพียงว่าข้อโต้แย้งสิทธิ หน้าที่สามารถถูกโต้แย้งตามมาตรานี้ได้เช่นกัน ฉะนั้น ไม่ว่าเป็นการโต้แย้งสิทธิหรือโต้แย้งหน้าที่ ต้องทำให้เกิดอำนาจฟ้องขึ้นมาได้ทันที
                บุคคลที่จะถือว่าเป็นผู้ที่อยู่ในฐานะเป็นลูกหนี้ ประกอบด้วยลักษณะ ๔ ประการ คือ
                ๑.ต้องมีหนี้ กรณีใดที่ไม่ใช่หนี้จะนำบทบัญญัติบรรพ ๒ ว่าด้วยหนี้มาใช้บังคับไม่ได้ ดังนั้นจึงต้องมีความผูกพันที่เป็นเรื่องหนี้อยู่ก่อนถึงจะบังคับตามผลแห่งหนี้ได้
                ๒.บุคคลนั้นเป็นลูกหนี้อันเกิดจากมูลหนี้อย่างใดอย่างหนึ่ง ในแง่ของสัญญาก็คือ ผู้นั้นเป็นคู่สัญญาทางฝ่ายลูกหนี้ที่มีหน้าที่ชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ตามสัญญานั้น
                ๓.เป็นหนี้ที่บังคับได้ทางศาล
                ๔.ลูกหนี้ละเลยไม่ชำระหนี้ที่ถึงกำหนดชำระแล้ว

อ้างอิง
ไพโรจน์ วายุภาพ. คำอธิบายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วย หนี้ พิมพ์ครั้งที่๑๒.           กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา, ๒๕๖๑.
อุดม เฟื่องฟุ้ง. รวมคำบรรยายภาค ๒ สมัยที่ ๖๘ ปีการศึกษา ๒๕๕๘ เล่มที่ ๑๕.          กรุงเทพมหานคร: สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา, ๒๕๕๘.

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
                มาตรา ๕๕  เมื่อมีข้อโต้แย้งเกิดขึ้น เกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลใดตามกฎหมายแพ่ง หรือบุคคลใดจะต้องใช้สิทธิทางศาล บุคคลนั้นชอบที่จะเสนอคดีของตนต่อศาลส่วนแพ่งที่มีเขตอำนาจได้ ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายแพ่งและประมวลกฎหมายนี้
                มาตรา ๑๔๒  คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลที่ชี้ขาดคดีต้องตัดสินตามข้อหาในคำฟ้องทุกข้อ แต่ห้ามมิให้พิพากษาหรือทำคำสั่งให้สิ่งใด ๆ เกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง เว้นแต่
                (๕) ในคดีที่อาจยกข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนขึ้นอ้างได้นั้น เมื่อศาลเห็นสมควร ศาลจะยกข้อเหล่านั้นขึ้นวินิจฉัยแล้วพิพากษาคดีไปก็ได้
                มาตรา ๒๔๖  เว้นแต่ที่ได้บัญญัติไว้ดังกล่าวมาข้างต้น บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยการพิจารณาและการชี้ขาดตัดสินคดีในศาลชั้นต้นนั้น ให้ใช้บังคับแก่การพิจารณาและการชี้ขาดตัดสินคดีในชั้นอุทธรณ์ได้โดยอนุโลม