โจทก์บรรยายฟ้องว่า การกระทำละเมิดของจำเลยเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายต้องทุกข์ทรมานแก่กายและจิตใจอย่างแสนสาหัสเกินกว่า ๒๐ วัน จำเลยให้การต่อสู้ว่า ข้อเท็จจริงคดีนี้ต้องรับฟังเป็นยุติตามคดีอาญาของศาลชั้นต้น ซึ่งถึงที่สุดแล้วว่าจำเลยทำร้ายร่างกายโจทก์เป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ รับฟังไม่ได้ว่าโจทก์ได้รับอันตรายสาหัสต้องรักษาเกินกว่า ๒๐ วัน อันเป็นการต่อสู้ในข้อกฎหมายตามบทบัญญัติมาตรา ๔๖ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา โดยจำเลยไม่ได้ให้การปฏิเสธโดยชัดแจ้งว่าข้อเท็จจริงตามที่โจทก์กล่าวอ้างในคำฟ้องที่ว่า โจทก์ได้รับความเสียหายต้องทุกข์ทรมานแก่กายและจิตใจนั้นไม่เป็นความจริงหรือไม่ถูกต้องอย่างไร ต้องถือว่าจำเลยให้การยอมรับตามข้ออ้างของโจทก์แล้ว โจทก์ไม่ต้องสืบพยานหลักฐานในเรื่องดังกล่าวอีก และจำเลยไม่อาจยกประเด็นข้อนี้ขึ้นคัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นได้เพราะไม่ใช่ข้อที่จำเลยได้ยกขึ้นว่ากล่าวมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น
                คดีนี้เป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ซึ่งในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๔๖ ที่รับฟังว่า จำเลยทำร้ายร่างกายโจทก์เป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจก็ตาม แต่คำพิพากษาคดีส่วนแพ่งต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่งตามบทบัญญัติมาตรา ๔๗ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาทั้งนี้โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าจำเลยต้องพิพากษาว่าได้กระทำความผิดหรือไม่  เมื่อคดีส่วนแพ่งรับฟังได้ว่าการกระทำละเมิดของจำเลยเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายทุกข์ทรมานแก่กายและจิตใจ อันเป็นความเสียหายที่ไม่ใช่ตัวเงิน ศาลย่อมวินิจฉัยกำหนดค่าเสียหายให้แก่โจทก์ตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดนั้นได้

เพิ่มเติม
                 คำให้การรับ มี ๒ กรณี
                ๑.เป็นกรณีที่จำเลยระบุมาในคำให้การโดยชัดแจ้งว่ายอมรับความจริงตามที่โจทก์ยกขึ้นกล่าวอ้างทั้งหมดหรือแต่บางส่วน
                ๒.คำให้การที่ถือว่ารับ นอกจากจำเลยจะให้การยอมรับโดยชัดแจ้งดังกล่าวแล้วยังมีกรณีที่ถือว่าเป็นการรับได้ดังต่อไปนี้
                                ๒.๑ ข้ออ้างตามที่โจทก์กล่าวมาในฟ้องข้อใดที่จำเลยไม่ได้กล่าวถึงต้องถือว่ารับ(ฎีกาที่ ๒๔๖/๒๕๑๗ และฎีกาที่ ๒๘๔๗/๒๕๔๔)
                                ๒.๒ กรณีที่เป็นคำให้การปฏิเสธที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเท่ากับว่าข้อที่โจทก์ยกขึ้นกล่าวอ้างนั้นจำเลยไม่ได้ปฏิเสธจึงถือว่ารับแล้ว(ฎีกาที่ ๓๔๒๕/๒๕๓๔)

อ้างอิง
ไพโรจน์ วายุภาพ. คำอธิบายกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ภาค ๒ ลักษณะ ๑ วิธีพิจารณาสามัญในศาลชั้นต้นพิมพ์ครั้งที่ ๖ แก้ไขเพิ่มเติม. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์กรุงสยามพับลิชชิ่ง จำกัด, ๒๕๕๖.

                ฎีกาที่ ๔๘๐๗/๒๕๕๙ โจทก์บรรยายฟ้องว่าโจทก์มอบอำนาจให้ พ. ดำเนินคดีแทน แต่จำเลยมิได้ให้การปฏิเสธว่าโจทก์มิได้มอบอำนาจดังกล่าว คดีจึงไม่มีประเด็นที่โจทก์จะต้องนำสืบหนังสือมอบอำนาจเป็นพยานหลักฐานอีกว่าถูกต้องหรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังยุติได้ว่าโจทก์มอบอำนาจให้ฟ้องคดีโดยชอบแล้ว
                ฎีกาที่ ๔๓๒๘/๒๕๕๙ ข้อความใดที่โจทก์กล่าวอ้างมาในฟ้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๑๗๗ วรรคสอง บังคับให้จำเลยจะต้องอ้างเหตุแห่งการปฏิเสธไว้โดยชัดแจ้ง ถ้าไม่ทราบว่ารับหรือปฏิเสธ ต้องถือว่าจำเลยไม่ได้ปฏิเสธ ซึ่งมีผลเท่ากับรับ ไม่เป็นประเด็นต้องวินิจฉัยอีกและไม่มีกรณีต้องรับฟังตราสารเป็นพยานหลักฐาน
                ฎีกาที่ ๑๒๗๑๕/๒๕๕๗ คำให้การจำเลยทั้งสิบมิได้ปฏิเสธข้อเท็จจริงที่โจทก์กล่าวอ้างว่าผู้กู้ได้ชำระหนี้บางส่วนให้โจทก์ทำให้อายุความสะดุดหยุดลง จึงไม่มีประเด็นโต้เถียงว่า ผู้กู้ได้ชำระหนี้บางส่วนตามคำฟ้องหรือไม่ เพราะถือว่าจำเลยทั้งสิบยอมรับข้อเท็จจริงดังกล่าวแล้ว โจทก์ไม่ต้องนำสืบข้อเท็จจริงนี้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๘๔(๓) ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค ๕ วินิจฉัยพยานหลักฐานโจทก์แล้วฟังว่า ผู้กู้ไม่ได้ชำระหนี้บางส่วนให้โจทก์ อายุความจึงไม่สะดุดหยุดลง คดีโจทก์ขาดอายุความ จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา ๑๔๒ วรรคหนึ่ง
                ฎีกาที่ ๖๑๓๑/๒๕๕๘ คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญานั้น การนำข้อเท็จจริงจากคำพิพากษาส่วนอาญามารับฟังในคดีส่วนแพ่งตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๔๖ จะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ ๓ ประการ คือ คำพิพากษาคดีอาญาต้องถึงที่สุด ข้อเท็จจริงนั้นเป็นประเด็นโดยตรงในคดีอาญาและวินิจฉัยไว้โดยชัดแจ้ง และเป็นคู่ความเดียวกัน 
                ฎีกาที่ ๑๓๖๗๕/๒๕๕๗ แม้ ป.วิ.อ. มาตรา ๔๖ จะบัญญัติว่า ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา แต่ในกรณีนี้ข้อเท็จจริงที่ฟังในคดีอาญาคงมีแต่เพียงว่า ทั้งผู้ตายและจำเลยที่ ๑ ต่างกระทำโดยประมาท แต่ผู้ใดประมาทมากกว่ากันไม่ปรากฏ ดังนั้น ในการดำเนินคดีแพ่ง ทั้งโจทก์และจำเลยที่ ๑ ย่อมสามารถนำสืบให้เห็นได้ว่าใครประมาทมากกว่ากัน และควรจะได้รับชดใช้ค่าเสียหายจากอีกฝ่ายหนึ่งหรือไม่ เพียงใด

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
                มาตรา ๑๗๗ เมื่อได้ส่งหมายเรียกและคำฟ้องให้จำเลยแล้ว ให้จำเลยทำคำให้การเป็นหนังสือยื่นต่อศาลภายในสิบห้าวัน
                ให้จำเลยแสดงโดยชัดแจ้งในคำให้การว่า จำเลยยอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วน รวมทั้งเหตุแห่งการนั้น
               
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
                มาตรา ๔๖  ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา
                มาตรา ๔๗ คำพิพากษาคดีส่วนแพ่งต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่ง โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าจำเลยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดหรือไม่
                ราคาทรัพย์สินที่สั่งให้จำเลยใช้แก่ผู้เสียหาย ให้ศาลกำหนดตามราคาอันแท้จริง ส่วนจำนวนเงินค่าสินไหมทดแทนอย่างอื่นที่ผู้เสียหายจะได้รับนั้น ให้ศาลกำหนดให้ตามความเสียหายแต่ต้องไม่เกินคำขอ