คำพิพากษาศาลฎ๊กาที่ ๑๘๒๑๑/๒๕๕๕
               ความผิดฐานเบิกความเท็จและนำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จตาม ป.อ. มาตรา ๑๗๗ และมาตรา ๑๘๐ นั้น มีองค์ประกอบความผิดสำคัญประการหนึ่งว่า คำเบิกความและพยานหลักฐานอันเป็นเท็จจะต้องเป็นข้อสำคัญในคดีที่เบิกความหรือนำสืบด้วย ดังนั้น ประเด็นสำคัญในคดีมีว่าอย่างไร คำเบิกความและพยานหลักฐานของจำเลยทั้งสามเป็นข้อสำคัญในคดีอย่างไร จึงเป็นสาระสำคัญอันเป็นองค์ประกอบของความผิดที่โจทก์จะต้องบรรยายไว้ให้ชัดแจ้งในฟ้อง แต่คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันเบิกความเท็จต่อศาลและนำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ร.๕๗/๒๕๔๗ ของศาลชั้นต้น เรื่องร้องขัดทรัพย์ และบรรยายรายละเอียดที่จำเลยทั้งสามเบิกความอันเป็นเท็จและนำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จ พร้อมกับความเป็นจริงว่าอย่างไร ทั้งคำเบิกความและการนำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จนั้นเป็นข้อสำคัญในคดี แต่โจทก์ไม่ได้บรรยายให้เห็นว่า ในคดีดังกล่าวประเด็นและข้อความที่เป็นเท็จและการนำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จเป็นข้อสำคัญในคดีนั้นอย่างไร จึงเป็นฟ้องที่ไม่ได้บรรยายถึงการกระทำที่อ้างว่าจำเลยทั้งสามได้กระทำผิดพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยทั้งสามเข้าใจข้อหาได้ดี แม้โจทก์แนบเอกสารท้ายฟ้อง สำเนาภาพถ่ายคำเบิกความของจำเลยทั้งสาม สำเนาภาพถ่ายบัญชีทรัพย์ สำเนาภาพถ่ายสัญญาซื้อขาย สำเนาภาพถ่ายบัญชียึดทรัพย์ สำเนาภาพถ่ายคำร้องขัดทรัพย์ และสำเนาภาพถ่ายคำพิพากษาในคดีดังกล่าวมาท้ายฟ้องซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของฟ้องก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาเอกสารเหล่านั้นประกอบแล้วก็มิได้แสดงให้เห็นข้อสำคัญในคดีก่อนแต่ประการใด ฟ้องโจทก์จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา ๑๕๘ ()

ข้อสังเกต
                คำฟ้องมิได้แสดงให้เห็นข้อสำคัญในคดีก่อนฟ้องโจทก์จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา ๑๕๘ () (ฎีกาที่ ๑๘๒๑๑/๒๕๕๕) ถือว่าฟ้องโจทก์มิได้บรรยายถึงการกระทำที่อ้างว่าจำเลยกระทำผิดมาโดยครบถ้วนไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา ๑๕๘ () และยังเป็นฟ้องที่บรรยายไม่ครบองค์ประกอบของความผิดตามบทมาตราในกฎหมายที่ขอให้ลงโทษจำเลยด้วย(ฎีกาที่ ๑๓๖๕๗/๒๕๕๕)
                ข้อความจะเป็นเท็จได้ต่อเมื่อเป็นข้อเท็จจริงในอดีตและปัจจุบัน
                ข้อความอันเป็นเท็จนั้น จะต้องเป็นข้อสำคัญในคดี คือเป็นข้อความในประเด็นที่อาจทำให้คดีแพ้หรือชนะ
                อย่างไรจึงจะเรียกเป็นการ “เบิกความ” เป็นไปตาม ป.วิ.อ.หรือ ป.วิ.พ. ในการพิจารณาคดีต่อศาล คือเฉพาะเมื่อศาลออกนั่งพิจารณา
อ้างอิง
หยุด แสงอุทัย. กฎหมายอาญา ภาค ๒-๓ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๑๐. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ๒๕๔๘.  
ประมวลกฎหมายอาญา 
                มาตรา ๑๗๗ ผู้ใดเบิกความอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีต่อศาล ถ้าความเท็จนั้นเป็นข้อสำคัญในคดี ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
                ถ้าความผิดดังกล่าวในวรรคแรก ได้กระทำในการพิจารณาคดีอาญา ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี และปรับไม่เกินหนึ่งแสนสี่หมื่นบาท
                [อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]
                มาตรา ๑๘๐ ผู้ใดนำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดี ถ้าเป็นพยานหลักฐานในข้อสำคัญในคดีนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
                ถ้าความผิดดังกล่าวในวรรคแรก ได้กระทำในการพิจารณาคดีอาญา ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี และปรับไม่เกินหนึ่งแสนสี่หมื่นบาท
                [อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 
                มาตรา ๑๕๘  ฟ้องต้องทำเป็นหนังสือ และมี
                (๕) การกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้น ๆ อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี
                ในคดีหมิ่นประมาท ถ้อยคำพูด หนังสือ ภาพขีดเขียนหรือสิ่งอื่นอันเกี่ยวกับข้อหมิ่นประมาท ให้กล่าวไว้โดยบริบูรณ์หรือติดมาท้ายฟ้อง