จำเลยสั่งสินค้าและรับสินค้าจากบริษัท ภ.ซึ่งเป็นโรงงานของบิดาโจทก์ในลักษณะเป็นการซื้อเชื่อถุงพลาสติกจากโรงงานโดยมิได้เป็นการรับถุงพลาสติกไว้แทนในฐานะลูกจ้างของโจทก์ เงินที่จำเลยได้รับมาจากลูกค้าที่จำเลยนำถุงพลาสติกไปจำหน่ายย่อมมิได้เป็นการรับไว้แทนโจทก์ หากจำเลยส่งเงินให้โจทก์ไม่ครบถ้วนตามข้อตกลงก็เป็นการกระทำอันเป็นการผิดสัญญาทางแพ่ง การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานยักยอก
                ข้อสังเกต จำเลยไม่ใช่ลูกจ้างของโจทก์

เพิ่มเติม
                การครอบครองแยกออกเป็น การครอบครองโดยตรง และ การครอบครองโดยปริยาย
                การครอบครองโดยตรงนี้ นอกจากเจ้าของทรัพย์หรือตัวแทนส่งมอบทรัพย์แล้ว กรณีอาจเป็นการครอบครองโดยผลของสัญญา หรือโดยผลของกฎหมายโดยตรงก็ได้ เช่น การรับฝาก จำนำ จำนอง เช่า หรือยืม เป็นต้น ฉะนั้น ความผิดฐานยักยอกในกรณีการส่งมอบโดยตรงนี้จึงเป็นกรณีที่เกิดขึ้นจากสัญญาเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งคู่สัญญามีความรับผิดต่อกันโดยตรงในทางแพ่งอยู่แล้ว กฎหมายในทางอาญาจะรับบังคับให้ก็เฉพาะกรณีที่ได้ความจริงว่า ผู้ครอบครองทรัพย์แทนนั้นมีเจตนาทุจริตเบียดบังเอาทรัพย์เป็นของตน หรือของบุคคลที่สามเท่านั้น ซึ่งบางกรณีก็เป็นการยากที่จะวินิจฉัยว่า ผู้ครอบครองจะมีความผิดในทางอาญา หรือเป็นกรณีรับผิดตามสัญญาในทางแพ่ง
ตัวอย่าง
                ก.ได้มอบเครื่องยนต์ให้ ข. ไปขายในราคา ๕๐๐ บาทถ้าขายได้เกินกว่าราคาก็ให้เป็นของ ข. ถ้าขายได้ตามราคาจะให้เปอร์เซ็นต์ ต่อมา ข. ขายเครื่องยนต์ได้ ข. พบ ก. สอบถาม ข. บอกว่าขายได้แต่เอาเงินไปซื้อของหมดแล้ว ก. จึงฟ้องว่า ข. ยักยอกเครื่องยนต์ ดังนี้ กรณีเป็นเรื่อง ก. มอบให้ ข.ไปขายโดยกำหนดราคาให้ อำนาจการขายอยู่แก่ ข. ซึ่งจะขายให้ใครก็ได้ ไม่ผิดความประสงค์ที่มอบหมาย แต่ ข. มีข้อผูกพันจะต้องชำระราคาให้ ก. เท่านั้น ข. จึงไม่มีความผิดฐานยักยอกเครื่องยนต์เพราะได้ขายไปแล้ว ข. คงมีความรับผิดในทางแพ่งที่จะชดใช้ราคาเครื่องยนต์ให้แก่ ก. เท่านั้น(สุปัน พูลพัฒน์)
                การครอบครองโดยปริยาย คือ การที่บุคคลได้ยึดถือครอบครองทรัพย์ของอีกบุคคลหนึ่งโดยเจ้าของทรัพย์หรือตัวแทนของเจ้าของทรัพย์มิได้ส่งมอบให้ยึดถือครอบครองหรือได้ครอบครองโดยผลแห่งสัญญาหรือโดยอำนาจแห่งกฎหมาย การครอบครองดังกล่าว เรียกว่า การครอบครองโดยปริยาย
ตัวอย่าง
                ก. ขึ้นรถรับจ้างแล้วลืมกระเป๋าไว้บนรถรับจ้างนั้น ผู้ขับรถรับจ้างเป็นผู้ครอบครองทรัพย์ของ ก. โดยปริยาย ถ้าเจตนาทุจริตเบียดบังเอาไปเป็นประโยชน์ส่วนตัวเสียมีความผิดฐานยักยอก(สุปัน พูลพัฒน์)
                ฎีกาที่ ๖๘๑๑/๒๕๕๙ ทรัพย์ตามความหมายของ ป.อ. มาตรา ๓๕๒ หมายถึงทรัพย์ที่มีรูปร่าง
                ฎีกาที่ ๑๓๐๘๙ – ๑๓๐๙๐/๒๕๕๘ ความผิดฐานยักยอก ตาม ป.อ. มาตรา ๓๕๒ นั้น ทรัพย์อันเป็นวัตถุแห่งการกระทำที่ผู้กระทำความผิดครอบครองอยู่จะต้องเป็นวัตถุที่มีรูปร่างหรือจับต้องสัมผัสได้

อ้างอิง
สุปัน พูลพัฒน์. คำอธิบายเรียงมาตราประมวลกฎหมายอาญา, 2506. 

ประมวลกฎหมายอาญา
                มาตรา ๓๕๒  ผู้ใดครอบครองทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้อื่น หรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานยักยอก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
                ถ้าทรัพย์นั้นได้ตกมาอยู่ในความครอบครองของผู้กระทำความผิด เพราะผู้อื่นส่งมอบให้โดยสำคัญผิดไปด้วยประการใด หรือเป็นทรัพย์สินหายซึ่งผู้กระทำความผิดเก็บได้ ผู้กระทำต้องระวางโทษแต่เพียงกึ่งหนึ่ง