โจทก์บรรยายฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๖ เวลากลางคืนหลังเที่ยง ถึงวันที่ ๑๓ มกราคม ๒๕๕๗ เวลากลางคืนหลังเที่ยง ต่อเนื่องกัน วันใดไม่ปรากฏชัด จำเลยซึ่งเป็นลูกจ้างของผู้เสียหายลักทรัพย์ผู้เสียหายไป แม้คำบรรยายฟ้องของโจทก์พอที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีว่าวันเวลาที่จำเลยกระทำความผิดเป็นช่วงวันเวลาใดและจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องก็ตาม แต่โจทก์ไม่ได้นำสืบเกี่ยวกับเวลาเกิดเหตุให้ศาลเห็นว่าจำเลยลักทรัพย์ในเวลากลางคืน ซึ่งความจริงเหตุอาจจะเกิดในเวลากลางวันก็ได้ จึงต้องยกประโยชน์ให้แก่จำเลย โดยฟังว่าจำเลยลักทรัพย์ในเวลากลางวัน ปัญหาดังกล่าวแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ.มาตรา ๑๙๕ วรรคสอง ประกอบมาตรา ๒๒๕

               ตามฎีกานี้ ศาลฎีกาพิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๕ (๑๑) วรรคแรก(เดิม)

เพิ่มเติม
               ถ้าทราบแต่เพียงช่วงเวลาเกิดเหตุ แต่ไม่ทราบแน่ชัดว่าเกิดวันเวลาใด บรรยายฟ้องว่าเหตุเกิดระหว่างวันใดถึงวันใด แล้วระบุว่าวันเวลาใดไม่ปรากฏชัด ถือเป็นคำฟ้องที่ชอบ(ฎีกาที่ ๑๐๙๘๕/๒๕๕๘, ๓๕๔๑-๓๕๔๒/๒๕๕๐)

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
               มาตรา ๑๕๘ ฟ้องต้องทำเป็นหนังสือ และมี
               (๕) การกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้น ๆ อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี
               มาตรา ๒๒๗ ให้ศาลใช้ดุลพินิจวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวง อย่าพิพากษาลงโทษจนกว่าจะแน่ใจว่ามีการกระทำผิดจริงและจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดนั้น
               เมื่อมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยได้กระทำผิดหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลย

ประมวลกฎหมายอาญา
               มาตรา ๓๓๕ ผู้ใดลักทรัพย์ 
               (๑) ในเวลากลางคืน
               (๑๑) ที่เป็นของนายจ้างหรือที่อยู่ในความครอบครองของนายจ้าง