ค่าสินไหมทดแทน ละเมิดกรณีเสียหายแก่ร่างกาย

            ค่าสินไหมทดแทน มี ๕ กรณี

               ๑. ค่าใช้จ่ายอันตนต้องเสียไป ( มาตรา ๔๔๔ วรรคหนึ่ง )

               ๒. ค่าเสียความสามารถประกอบการงานในปัจจุบัน ( มาตรา ๔๔๔ วรรคหนึ่ง )

               ๓. ค่าเสียความสามารถประกอบการงานในอนาคต ( มาตรา ๔๔๔ วรรคหนึ่ง)

               ๔. ค่าขาดแรงงานของบุคคลภายนอก ( มาตรา ๔๔๕ )

               ๕. ค่าเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงิน ( มาตรา ๔๔๖ )

 

๑. ค่าใช้จ่ายอันตนต้องเสียไป

               ๑.๑ ค่ารักษาพยาบาลทุกอย่าง จะเป็นโรงพยาบาลของรัฐหรือเอกชน ถูกหรือแพง ก็ตาม ได้ทั้งนั้น

               ฎีกาที่ ๒๔๑๖๒๕๓๔ โจทก์ได้รับบาดเจ็บเนื่องจากจำเลยกระทำละเมิดจนต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลถือได้ว่าโจทก์เป็นผู้มีทุกข์ซึ่งโจทก์ไม่มีส่วนผิด โจทก์ย่อมจะหาความสะดวกเพื่อให้ได้รับทุกข์น้อยที่สุดโดยการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชนได้ จำเลยจะกะเกณฑ์ให้โจทก์ไปรับการรักษาในโรงพยาบาลของรัฐหาได้ไม่ โจทก์มีสิทธิเรียกร้องค่ารักษาพยาบาลที่โจทก์ได้จ่ายไปจริง (ดูฎีกาที่ ๗๓๑๗/๒๕๕๓)

               ๑.๒ ค่าใช้จ่ายอื่นเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล

               ค่าพาหนะไปมาโรงพยาบาลเพื่อรักษาบาดแผล(ฎีกาที่ ๑๐๘๕/๒๕๑๑)

               ค่าจ้างพยาบาลเฝ้าไข้ ค่ายา ค่าจ้างรถแท็กซี่ไปโรงพยาบาล ค่าจ้างรถแท็กซี่ไปทำงานเพราะยังเดินไม่ได้ ( ฎีกาที่ ๔๕๐/๒๕๑๖ )

               ค่ารักษาพยาบาลในอนาคต (ฎีกาที่ ๑๗๙๔/๒๕๑๗)

               ผู้มีสิทธิเรียกค่ารักษาพยาบาล

               ๑. ผู้ถูกกระทำละเมิด

               ๒.ผู้มีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาล เช่น บิดามารดากรณีผู้ถูกกระทำละเมิดเป็นผู้เยาว์ (ฎีกาที่ ๑๑๔๕/๒๕๑๒ )

               ๓. ผู้มีหน้าที่ตามสัญญาที่จะต้องชำระค่ารักษาพยาบาลแทนผู้ถูกกระทำละเมิด เช่น บริษัทประกันภัย ตามมาตรา ๘๘๐

               นอกจากนี้ฟ้องไม่ได้ เช่น คู่สมรส ( ฎีกาที่ ๓๘๙/๒๕๓๘ ), หน่วยงานที่ให้สวัสดิการในการเบิกค่ารักษาพยาบาล ( ฎีกาที่ ๑๕๓๓/๒๕๑๙, ๓๓๕๗/๒๕๓๘ )

 

๒. ค่าเสียความสามารถประกอบการงานในปัจจุบัน

                    เช่น นอกรักษาพยาบาลอยู่โรงพยาบาล ๑ เดือน ถือว่าเป็นค่าเสียความสามารถประกอบการงานในปัจจุบัน ฟ้องเรียกค่าเสียหายได้

               ฎีกาที่ ๒๔๑๖/๒๕๓๔ โจทก์ไม่ได้รับเงินเดือนในระหว่างรักษาตัวเนื่องจากเจ็บป่วยเพราะจำเลยกระทำละเมิด จำเลยต้องรับผิดเต็มจำนวนของเงินเดือนที่โจทก์ไม่ได้รับนั้น จำเลยจะเกี่ยงให้โจทก์นำค่าน้ำมันรถค่าอาหารการกินมาหักจากเงินเดือนก่อนหาได้ไม่

                

๓. ค่าเสียความสามารถประกอบการงานในอนาคต

               แม้จะทำงานได้บ้างแต่ไม่เหมือนเดิมก็เรียกได้

               ฎีกาที่ ๓๙๑๓/๒๕๔๘ ขณะเกิดเหตุโจทก์ที่ ๑ อายุ ๑๔ ปี กาลังศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๒ ซึ่งต่อไปย่อมสามารถประกอบอาชีพการงานมีรายได้เช่นคนปกติทั่วไป หลังเกิดเหตุโจทก์ที่ ๑ มีอาการไม่รู้สึกตัวสมองบวม กะโหลก ศีรษะยุบ เลือดออกใต้หนังศีรษะต้องรักษาด้วยการผ่าตัดเปิดกะโหลก ต้องใช้เวลารักษานานอาจเป็นปี หลังผ่าตัดแล้วโจทก์ที่ ๑ ยังมีอาการสมองไม่รับรู้ ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ พูดไม่ได้ ต้องจ้างผู้ดูแลตลอดเวลาทั้งไม่ปรากฏว่าจะสามารถรักษาให้โจทก์ที่ ๑ หายเป็นปกติไว้ ปัจจุบันโจทก์ที่ ๑ ยังไม่สามารถช่วยตัวเองได้เช่นนี้ ย่อมทำให้โจทก์ที่ ๑ สูญเสียความสามารถที่จะประกอบอาชีพต่อไปได้โดยสิ้นเชิง โจทก์ที่ ๑ จึงได้รับความเสียหาย โดยไม่คำนึงว่าจะต้องมีอาชีพแต่อย่างใด

               การคิดดอกเบี้ย ในค่าเสียความสามารถประกอบการงานในอนาคต เรียกได้ ถ้ามีกำหนดจำนวนแน่นอน นับแต่วันกระทำละเมิด ( ฎีกาที่ ๑๘๑๒/๒๕๓๕ )

 

๔. ค่าขาดแรงงานของบุคคลภายนอก

               บุคคลในครัวเรือน การขาดแรงงานในครัวเรือนเป็นการไร้อุปการะอย่างหนึ่ง สามารถเรียกค่าสินไหมทดแทนในส่วนนี้ได้(ฎีกาที่ ๑๘๑๒/๒๕๓๕) แต่ถ้าไม่ปรากฏว่าผู้ตายในขณะที่มีชีวิตอยู่ได้ช่วยดำเนินกิจการ ไม่สามารถเรียกค่าขาดแรงงานได้(ฎีกาที่ ๑๗๙๕๐/๒๕๕๗)

               บุคคลนอกครัวเรือน เช่น ลูกจ้างในโรงงาน

 

๕. ค่าเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงิน

               ฎีกาที่ ๕๗๕๑/๒๕๔๔ ความเสียหายที่มิใช่ตัวเงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๔๖ หมายความว่า ความเสียหายอันไม่อาจคำนวณเป็นเงินได้แต่ความเสียหายเช่นว่านี้ต้องเป็นผลสืบเนื่องมาจากการกระทำละเมิดจำเป็นต้องเยียวยาหรือทดแทนความเสียหายให้เช่นเดียวกัน ซึ่งอาจมีความเสียหายมากยิ่งกว่าความเสียหายต่อร่างกายอีกด้วย ความเสียหายที่มิใช่ตัวเงิน เช่น ความเจ็บปวดทนทุกขเวทนาระหว่างการรักษาพยาบาลหรือต้องทุพพลภาพพิการต่อไป ความเสียหายเช่นว่านี้กฎหมายให้ศาลมีอำนาจกำหนดให้ตามพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด เพราะค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายที่มิใช่ตัวเงินย่อมจะนำสืบคิดเป็นจำนวนเงินเท่าใดไม่ได้อยู่ในตัว

               เช่น ค่าทนทุกข์ทรมานกับค่าสูญเสียบุคลิกภาพ ศาลกำหนดให้ตามสมควร ( ฎีกาที่ ๒๔๑๖/๒๕๓๔ )

               ค่าเสียหายเพราะต้องทุพพลภาพตลอดชีวิตไม่สามารถควบคุมการขับถ่ายได้ เสียสมรรถภาพทางเพศ ทั้งสองกรณีแยกกันคำนวณค่าเสียหายได้ ( ฎีกาที่ ๗๕/๒๕๓๘)

               ฎีกาที่ ๒๕๒๗/๒๕๕๓ โจทก์ไม่สามารถเดินได้ตามปกติโดยหลังเกิดเหตุภายหลังการรักษาทำให้ขาข้าขวาสั้นกว่าขาข้างซ้าย ถือว่าเป็นค่าเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงิน ตามมาตรา ๔๔๖

               ฎีกาที่ ๖๐๙๒/๒๕๕๒ ค่าทนทุกข์ทรมานระหว่างเจ็บป่วย ค่าสมรรถภาพในการมองเห็นและค่าสูญเสียความสวยงามของโจทก์นั้น ถือได้ว่าเป็นความเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินซึ่งโจทก์ มีสิทธิเรียกได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๔๔๖ โดยไม่คำนึงว่าโจทก์ประกอบอาชีพหรือไม่

                    การเรียกค่าเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินที่ต้องเจ็บปวดทนทุกข์ทรมานกับความเสียหายอันเป็นการเสียความสามารถประกอบการงาน ไม่ถือว่าเป็นการเรียกค่าเสียหายซ้ำซ้อนกัน ดูฎีกาที่ ๓๙๔๕/๒๕๕๘

                    ฎีกาที่ ๓๙๔๕/๒๕๕๘ ผลของการทำละเมิดของจำเลยที่ ๓  ทำให้โจทก์ได้รับบาดเจ็บกระดูกขาขวาท่อนล่าง ซึ่งมี ๒ ท่อนคู่กันกระดูกแต่ละท่อนได้หัก ๒ แห่ง และมีแผลฉีกขาดที่ปลายขา ขวา ยาว ๒๐ เซนติเมตร แพทย์ต้องตัดเนื้อเยื่อจากส่วนอื่นของร่างกายมาใส่แผลที่ฉีกขาด ต้องผ่าตัดใส่เหล็กดามกระดูกที่หัก ถึง ๒ ครั้ง โจทก์ต้องรับการรักษาต่อเนื่องนานนับปี ต้องเจ็บปวดทนทุกข์ทรมานเป็นอันมาก มีรอยแผลเป็นและไม่สามารถเดินได้อย่างปกติเพราะขายาวไม่เท่ากัน เห็นได้ว่าความเสียหายดังกล่าวเป็นความเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินซึ่งโจทก์มีสิทธิเรียกได้จากจำเลยผู้ทำละเมิดตาม ป.พ.พ.มาตรา ๔๔๖ วรรคหนึ่ง และการที่โจทก์ต้องรับการผ่าตัดกระดูกขาขวานั้นเอง ทำให้โจทก์ไม่สามารถประกอบการงานขับรถจักรยานยนต์ส่งเอกสารได้จนถูกบริษัทนายจ้างสั่งให้ออกจากงาน แม้ต่อมาโจทก์จะได้กลับไปทำงานขับรถส่งเอกสารอีก แต่ก็ไม่สามารถขับไปส่งในระยะไกล ๆ ได้ดังเดิม ทำให้รายได้โจทก์ลดลงจากเดิมเดือนละ ๑๕,๐๐๐ บาท เหลือเพียง ๘,๐๐๐ บาท อันถือได้ว่าเป็นการเสียความสามารถประกอบการงานแต่บางส่วนที่คิดเป็นเงินได้ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องจากจำเลยผู้ทำละเมิดได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๔๔๔ วรรคหนึ่ง และไม่เป็นการเรียกค่าเสียหายซ้ำซ้อนกัน

               เป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้เสียหายจะโอนกันไม่ได้ และไม่ตกทอดไปยังทายาท


อ้างอิง

เพ็ง เพ็งนิติ. คำอธิบายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยละเมิด พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยงข้อง. พิมพ์ครั้งที่ 10 – ฉบับปรับปรุงใหม่. กรุงเทพฯ: สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา, 2560.