คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๘๕๘๙/๒๕๖๑ 
               คำฟ้องโจทก์บรรยายฟ้องไว้โดยชัดแจ้งว่า ขณะเกิดเหตุคดีนี้ จำเลยดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ฝ่ายรักษาความสงบ สังกัดกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยซึ่งเป็นข้าราชการหรือพนักงานองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ กับมีคำขอท้ายคำฟ้อง ขอให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๑๐๐ และขอศาลสั่งให้ระวางโทษจำเลยเป็นสามเท่าของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น ดังนี้แสดงว่า โจทก์ระบุสถานะของจำเลยว่า เป็นบุคคลตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๑๐๐ กับขอให้ระวางโทษจำเลยเป็นสามเท่าตามบทบัญญัติแห่งมาตราดังกล่าวด้วย หาใช่ขอให้ระวางโทษจำเลยเป็นสามเท่าตามบัญญัติแห่งกฎหมายอื่น ซึ่งเมื่อพิจารณา พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๑๐๐ การที่จำเลยดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน จึงหาใช่บุคคลตามที่ระบุไว้ในมาตราดังกล่าวไม่ แต่การที่จำเลยเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านมีสถานะถือเป็น พนักงานส่วนท้องถิ่น ตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๑๐ ซึ่งต้องระวางโทษเป็นสามเท่าของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเช่นกัน อันเป็นกฎหมายอีกฉบับหนึ่งแยกต่างหากจากกัน หากโจทก์ประสงค์จะให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ. มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.๒๕๓๔ ดังกล่าวก็ต้องระบุสถานะของจำเลย และมีคำขอให้ลงโทษตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นเอาไว้ในคำฟ้องโดยชัดแจ้ง แต่โจทก์ไม่ได้บรรยายสถานะของจำเลยว่าเป็นพนักงานส่วนท้องถิ่น ทั้งไม่ได้มีคำขอท้ายฟ้อง ขอให้ลงโทษ ตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.๒๕๓๔ มาตรา ๑๐ ไว้แต่อย่างใด ซึ่งตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๑๙๒ วรรคแรก ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.๒๕๕๐ มาตรา ๓ ห้ามมิให้พิพากษาหรือสั่งเกินคำขอ หรือที่มิได้กล่าวในฟ้อง จึงไม่อาจระวางโทษจำเลยเป็นสามเท่าตามบทบัญญัติแห่งมาตราดังกล่าวได้
               ป.วิ.อ. มาตรา ๑๙๒ วรรคห้า ถือเป็นข้อยกเว้นของวรรคแรก จึงต้องตีความวรรคห้าโดยเคร่งครัด ไม่เช่นนั้นแล้วจะเป็นเหตุทำให้จำเลยต้องได้รับโทษหนักขึ้น โดยในวรรคห้าระบุว่า เป็นเรื่องที่โจทก์อ้างฐานความผิดหรือบทมาตราผิด เมื่อกฎหมายระบุถึงฐานความผิดหรือบทมาตราผิด ก็ต้องเป็นกรณีที่อ้างฐานความผิดหรือบทมาตราผิดอย่างแท้จริง จะตีความขยายไปถึง กรณีที่อ้างกฎหมายผิดทั้งฉบับหาได้ไม่ เพราะถ้ากฎหมายต้องการเช่นนั้น ก็คงระบุไว้เสียเลยว่า โจทก์อ้างบทกฎหมายผิด ซึ่งย่อมครอบคลุมตลอดถึงการอ้างฐานความผิดหรือบทมาตราผิดอยู่ในตัวด้วย ศาลจะลงโทษจำเลย ตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.๒๕๓๔ มาตรา ๑๐ มิได้ เพราะขัดต่อ ป.วิ.อ. มาตรา ๑๙๒ วรรคแรก ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.๒๕๕๐ มาตรา ๓

เพิ่มเติม
               มาตรา ๑๘๓๑/๒๕๕๘ เมื่อข้อหาความผิดหนึ่งต้องมีบทความผิดกับบทลงโทษประกอบเข้าด้วยกัน โดยอาจจะอยู่ในมาตราเดียวกันหรือแยกกันอยู่คนละมาตราก็ได้ การที่โจทก์เพียงองมาตราในกฎหมายที่เป็นบทความผิดหรือบทลงโทษเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง ถือได้ว่าเป็นเรื่องโจทก์อ้างฐานความผิดหรือบทมาตราผิด
               ฎีกาที่ ๗๗๖๐/๒๕๕๖ คำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายองค์ประกอบความผิดตาม ป.ที่ดิน มาตรา ๙ ไว้ชัดเจนว่า จำเลยเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินของรัฐอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ประเภทพลเมืองใช้ร่วมกัน ทั้งนี้โดยไม่ได้รับอนุญาต ต่อมากิ่งอำเภอเกาะจันทร์ได้มีหนังสือแจ้งให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดินดังกล่าวภายใน ๓๐ วัน แต่จำเลยเพิกเฉย ต่อมากิ่งอำเภอเกาะจันทร์ได้มีคำสั่งให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่พักอาศัยภายใน ๗ วัน จำเลยได้รับคำสั่งแล้วไม่ดำเนินการรื้อถอน ถือได้ว่าโจทก์บรรยายถึง การกระทำผิดของจำเลยครบถ้วนแล้วตามมาตรา ๙ และมาตรา ๑๐๘ แล้ว แม้คำฟ้องโจทก์ระบุวันกระทำผิดของจำเลยคือ ต้นปี ๒๕๑๔ อันเป็นวันก่อนวันที่ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๙๖ มีผลบังคับ ซึ่งต้องปรับบทตามมาตรา ๑๐๘ ก็ตามและคำฟ้องของโจทก์ได้อ้างมาตรา ๑๐๘ ทวิ มิได้อ้างมาตรา ๑๐๘ มาก็ตาม กรณีถือได้ว่าโจทก์อ้างฐานความผิดหรือบทมาตราผิด ศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยตามฐานความผิดที่ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๑๙๒ วรรคห้า

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
               มาตรา ๑๙๒ ห้ามมิให้พิพากษา หรือสั่ง เกินคำขอ หรือที่มิได้กล่าวในฟ้อง
               ถ้าศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้อง ให้ศาล ยกฟ้องคดีนั้น เว้นแต่ข้อแตกต่างนั้นมิใช่ในข้อสาระสำคัญและทั้งจำเลยมิได้หลงต่อสู้ ศาลจะลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่ได้ความนั้นก็ได้
               วรรคห้า ถ้าศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงตามฟ้องนั้นโจทก์สืบสม แต่โจทก์อ้างฐานความผิดหรือบทมาตราผิด ศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยตามฐานความผิดที่ถูกต้องได้