คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๘๕๖๙/๒๕๖๑ เล่มที่ ๑๐ หน้า ๑๕๗
               จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ต่างก็เบิกความตอบโจทก์ถามค้านรับว่า ลงลายมือชื่อในบันทึกการตรวจค้นจับกุม โดยเจ้าพนักงานตำรวจชุดจับกุม มิได้บังคับขู่เข็ญหรือทำร้าย ย่อมแสดงให้เห็นว่าข้อความในบันทึกการตรวจค้นจับกุมเป็นความจริง พฤติการณ์ของจำเลยทั้งสามที่พักอาศัยอยู่ด้วยกันในบ้านในห้องพักซึ่งติดกับห้องที่พบเมทแอมเฟตามีนของกลาง แม้ประตูห้องจะล็อกกุญแจไว้ แต่ก็พบลูกกุญแจในบ้านที่เกิดเหตุนั้นและสามารถไขกุญแจที่ล็อกไว้ได้ ประกอบกับที่จำเลยทั้งสามให้การไว้ในบันทึกการตรวจค้นจับกุม รับว่าเป็นผู้ดูแลและเฝ้าของกลางเมทแอมเฟตามีน โดยได้รับค่าจ้างวันละ ๒๐๐ บาท และยาเสพติดอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๘๔ วรรคสี่ ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๓ ถ้อยคำนี้ถือว่าเป็นถ้อยคำอื่นที่รับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของจำเลยทั้งสามได้ เมื่อได้มีการแจ้งสิทธิตามวรรคหนึ่ง และตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๘๓ วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.๒๕๕๐ มาตรา ๓ ซึ่งปรากฏในบันทึกการตรวจค้นจับกุมว่าได้มีการแจ้งสิทธิดังกล่าวแก่จำเลยทั้งสามแล้ว ดังนี้ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ตามพยานหลักฐานของโจทก์ว่า จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ร่วมกับจำเลยที่ ๑ ครอบครองเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้เพื่อจำหน่าย กรณีมิใช่การรับฟังพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นโดยชอบแต่ได้มาเนื่องจากการกระทำโดยมิชอบหรือเป็นพยานหลักฐานที่ได้มาโดยอาศัยข้อมูลที่เกิดขึ้นหรือมาโดยอาศัยข้อมูลที่เกิดขึ้นหรือได้มาโดยมิชอบ และห้ามมิให้รับฟังเป็นพยานหลักฐานตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๒๒๖/๑

เพิ่มเติม
               ฎีกาที่ ๖๗๖๖/๒๕๖๑ แม้ ป.วิ.อ. มาตรา ๘๔ วรรคท้าย ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๓ จะห้ามมิให้รับฟังคำรับสารภาพชั้นจับกุมเป็นพยานหลักฐาน แต่ กฎหมายห้ามมิให้รับฟังถ้อยคำรับสารภาพของผู้ถูกจับเป็นพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความผิดของผู้ถูกจับเท่านั้น แต่มิได้ห้ามรับฟังเป็นพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความผิดของผู้ร่วมกระทำความผิดอื่น จึงรับฟังบันทึกการจับกุม บันทึกถ้อยคำ และภาพถ่ายการชี้ตัว ประกอบคำเบิกความของพยานโจทก์ผู้จับกุมเพื่อพิสูจน์ความผิดของจำเลยได้
               ฎีกาที่ ๓๒๑๔/๒๕๖๐ การที่จำเลยทั้งสี่ให้การต่อผู้ดำเนินกรรมวิธีซักถามในฐานะผู้ถูกดำเนินกรรมวิธีหรือผู้ต้องสงสัย และต่อพนักงานสอบสวนในฐานะพยาน มิใช่คำให้การของผู้ถูกจับที่ให้ไว้ต่อเจ้าพนักงานผู้จับเพราะขณะนั้นจำเลยทั้งสี่ยังไม่ได้ถูกจับกุม กรณีไม่อยู่ในบังคับตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๘๔ วรรคสี่ คำรับสารภาพและถ้อยคำอื่นของจำเลยทั้งสี่จึงไม่ ต้องห้ามรับฟังตามบทบัญญัติมาตราดังกล่าว ทั้งการสอบปากคำจำเลยทั้งสี่โดยผู้ดำเนินกรรมวิธีและพนักงานสอบสวนก็เป็นการปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่โดยชอบ เพราะขณะนั้นยังไม่มีเหตุเพียงพอที่จะดำเนินการขอออกหมายจับจำเลยทั้งสี่ได้ เนื่องจากไม่รู้ว่าผู้ใดเป็นคนร้าย การสอบปากคำจำเลยทั้งสี่จึงเป็นเพียงการสอบถามเบื้องต้นในชั้นสืบสวนเท่านั้น ผู้ดำเนินกรรมวิธีและพนักงานสอบสวนไม่จำต้องแจ้งสิทธิใด ๆ ให้จำเลยทั้งสี่ทราบก่อน บันทึกผลการดำเนินตามกรรมวิธีและบันทึกคำให้การของพยานรวม ทั้งรถจักรยานยนต์และถังดับเพลิงของกลางจึงเป็นพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นและได้มาโดยชอบ ไม่ต้องห้ามรับฟังตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๒๒๖ และมาตรา ๒๒๖/๑
               ฎีกาที่ ๑๓๑๙๙/๒๕๕๗ ป.วิ.อ. มาตรา ๘๔ วรรคสี่ บัญญัติเพื่อมุ่งประสงค์ที่จะห้ามมิให้นำคำรับสารภาพในชั้นจับกุมของจำเลยที่ ๑ มารับฟังประกอบการพิจารณาลงโทษจำเลยที่ ๑ เท่านั้น คำให้การในชั้นจับกุมของจำเลยที่ ๑ ในส่วนที่พาดพิงถึงจำเลยที่ ๒ ว่าร่วมกระทำความผิด แม้เป็นพยานบอกเล่า และเป็นคำซัดทอดเมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ ๑ ได้รับประโยชน์จากการซัดทอดถึงจำเลยที่ ๒ ก็รับฟังประกอบพยานหลักฐานอื่นที่โจทก์ส่งอ้างเป็นพยานตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๒๒๖ โดยชอบ

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
               มาตรา ๘๓ ในการจับนั้น เจ้าพนักงานหรือราษฎรซึ่งทำการจับต้องแจ้งแก่ผู้ที่จะถูกจับนั้นว่าเขาต้องถูกจับ แล้วสั่งให้ผู้ถูกจับไปยังที่ทำการของพนักงานสอบสวนแห่งท้องที่ที่ถูกจับพร้อมด้วยผู้จับ เว้นแต่สามารถนำไปที่ทำการของพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบได้ในขณะนั้น ให้นำไปที่ทำการของพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบดังกล่าว แต่ถ้าจำเป็นก็ให้จับตัวไป
               ในกรณีที่เจ้าพนักงานเป็นผู้จับ ต้องแจ้งข้อกล่าวหาให้ผู้ถูกจับทราบ หากมีหมายจับให้แสดงต่อผู้ถูกจับ พร้อมทั้งแจ้งด้วยว่า ผู้ถูกจับมีสิทธิที่จะไม่ให้การหรือให้การก็ได้และถ้อยคำของผู้ถูกจับนั้นอาจใช้ เป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดีได้และผู้ถูกจับมีสิทธิที่จะพบและปรึกษาทนายความ หรือผู้ซึ่งจะเป็นทนายความ ถ้าผู้ถูกจับประสงค์จะแจ้งให้ญาติหรือผู้ซึ่งตนไว้วางใจทราบถึงการจับกุมที่สามารถดำเนินการได้โดย สะดวกและไม่เป็นการขัดขวางการจับหรือการควบคุมผู้ถูกจับหรือทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยแก่บุคคลหนึ่งบุคคลใด ก็ให้เจ้าพนักงานอนุญาตให้ผู้ถูกจับดำเนินการได้ตามสมควรแก่กรณี ในการนี้ให้เจ้าพนักงานผู้จับนั้น บันทึกการจับดังกล่าวไว้ด้วย
               ถ้าบุคคลซึ่งจะถูกจับขัดขวางหรือจะขัดขวางการจับ หรือหลบหนีหรือพยายามจะหลบหนี ผู้ทำการจับมีอำนาจใช้วิธีหรือการป้องกันทั้งหลายเท่าที่เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งเรื่องในการจับนั้น
               มาตรา ๘๔ เจ้าพนักงานหรือราษฎรผู้ทำการจับต้องเอาตัวผู้ถูกจับไปยังที่ทำการของพนักงานสอบสวนตามมาตรา ๘๓ โดยทันที และเมื่อถึงที่นั้นแล้ว ให้ส่งตัวผู้ถูกจับแก่พนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจของที่ทำการของพนักงานสอบสวนดังกล่าว เพื่อดำเนินการดังต่อไปนี้
               (๑) ในกรณีที่เจ้าพนักงานเป็นผู้จับให้เจ้าพนักงานผู้จับนั้นแจ้งข้อกล่าวหา และรายละเอียดเกี่ยวกับเหตุแห่งการจับให้ผู้ถูกจับทราบ ถ้ามีหมายจับให้แจ้งให้ผู้ถูกจับทราบและอ่านให้ฟังและมอบสำเนาบันทึกการจับแก่ผู้ถูกจับนั้น
               (๒) ในกรณีที่ราษฎรเป็นผู้จับ ให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจซึ่งรับมอบตัวบันทึกชื่อ อาชีพ ที่อยู่ของผู้จับ อีกทั้งข้อความและพฤติการณ์แห่งการจับนั้นไว้ และให้ผู้จับลงลายมือชื่อกำกับไว้เป็นสำคัญ เพื่อดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหาและรายละเอียดแห่งการจับให้ผู้ถูกจับทราบและแจ้งให้ผู้ถูกจับทราบด้วยว่าผู้ถูกจับมีสิทธิที่จะไม่ให้การหรือให้การก็ได้ และถ้อยคำของผู้ถูกจับอาจใช้เป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดีได้
               เมื่อได้ดำเนินการตามวรรคหนึ่งแล้วให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ ซึ่งมีผู้นำผู้ถูกจับมาส่งแจ้งให้ผู้ถูกจับทราบถึงสิทธิตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๗/๑ รวมทั้งจัดให้ผู้ถูกจับสามารถติดต่อกับญาติหรือ ผู้ซึ่งผู้ถูกจับไว้วางใจเพื่อแจ้งให้ทราบถึงการจับกุมและสถานที่ที่ถูกควบคุมได้ในโอกาสแรกเมื่อผู้ถูกจับมาถึงที่ทำการของพนักงานสอบสวนตามวรรคหนึ่ง หรือถ้ากรณีผู้ถูกจับร้องขอให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจเป็นผู้แจ้ง ก็ให้จัดการตามคำร้องขอนั้นโดยเร็ว และให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจบันทึกไว้ในการนี้มิให้เรียกค่าใช้จ่ายใด ๆ จากผู้ถูกจับ
               ในกรณีที่จำเป็น เจ้าพนักงานหรือราษฎรซึ่งทำการจับจะจัดการพยาบาลผู้ถูกจับเสียก่อนนำตัวไปส่งตามมาตรานี้ก็ได้
               ถ้อยคำใด ๆ ที่ผู้ถูกจับให้ไว้ต่อเจ้าพนักงานผู้จับ หรือพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจในชั้นจับกุมหรือรับมอบตัวผู้ถูกจับ ถ้าถ้อยคำนั้นเป็นคำรับสารภาพของผู้ถูกจับว่าตนได้กระทำความผิดห้ามมิให้รับ ฟังเป็นพยานหลักฐาน แต่ถ้าเป็นถ้อยคำอื่น จะรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของผู้ถูกจับได้ต่อเมื่อได้มีการแจ้งสิทธิตามวรรคหนึ่ง หรือตามมาตรา ๘๓ วรรคสอง แก่ผู้ถูกจับแล้วแต่กรณี