คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๗๒๙๑/๒๕๖๑ 
               การฟ้องเรียกมรดกต้องอยู่ในบังคับ ป.พ.พ. มาตรา ๑๗๕๔ และ คดีจัดการมรดกมีกำหนดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๗๓๓ กล่าวคือ การฟ้องคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกต้องอยู่ในบังคับมาตรา ๑๗๓๓
               โจทก์ฟ้องโดยระบุในคำฟ้องว่า โจทก์ฟ้องจำเลยในฐานะส่วนตัวและในฐานะผู้จัดการมรดก เมื่อเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย จำเลยเป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกและจำเลยยังได้ไปยื่นคำร้องขอให้ศาลตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดก จึงถือได้ว่าจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทแทนทายาททั้งหมด การที่จำเลยจะเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือเป็นของตนเอง จำเลยต้องบอกกล่าวไปยังทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกว่าไม่เจตนาจะยึดถือครอบครองแทนทายาทอื่นต่อไปตามที่ ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๘๑ บัญญัติไว้ เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยได้แจ้งเปลี่ยนเจตนายึดถือไปยังโจทก์ก็ต้องถือว่าจำเลยยังคงครอบครองที่ดินพิพาทแทน ท. และโจทก์อยู่ตลอดมา การที่ จำเลยโอนที่ดินพิพาทเป็นชื่อของจำเลยในฐานะส่วนตัวกับ ห. โดยไม่ได้แจ้งให้โจทก์ซึ่งเป็นทายาทของ ท. ทราบ ถือไม่ได้ว่าจำเลยครอบครองเพื่อตนเองโดยลำพัง ดังนั้น จำเลยไม่อาจอ้างอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๗๕๔ มาใช้ต่อสู้โจทก์ได้ คดีจึงไม่ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๗๕๔ และเมือการจัดการมรดกยังไม่เสร็จสิ้นจึงจะนำอายุความ ๕ ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๗๓๓ มาใช้บังคับไม่ได้

เพิ่มเติม
               ฎีกาที่ ๖๓๒๕/๒๕๕๙ กำหนดอายุความมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๗๕๔ ที่บัญญัติห้ามมิให้ฟ้องคดีมรดก เมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปี นับแต่เจ้ามรดกตาย หรือนับแต่ทายาทโดยธรรมได้รู้หรือควรรู้ถึงความตายของเจ้ามรดก แต่ห้ามมิให้ฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนดสิบปีนับแต่เมื่อเจ้ามรดกตายนั้น ใช้บังคับสำหรับกรณีที่ทายาทฟ้องเรียกร้องทรัพย์มรดกจากทายาทที่ครอบครองทรัพย์มรดกซึ่งยังมิได้แบ่งปันกัน คดีนี้โจทก์ฟ้องว่ามีการแบ่งปันมรดกกันแล้ว โจทก์ให้จำเลยครอบครองที่ดินพิพาทซึ่งเป็นส่วนของโจทก์แทน และฟ้องเรียกที่ดินพิพาทคืนจากจำเลย จึงเป็นการเรียกที่ดินพิพาทคืนจากจำเลยในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ผู้ใช้สิทธิติดตามเอาทรัพย์ของตนคืนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิยึดถือไว้ มิใช่กรณีทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกด้วยกันพิพาทกันด้วยเรื่องสิทธิเรียกร้องส่วนแบ่งทรัพย์มรดกอันจะอยู่ภายใต้บังคับอายุความมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๗๕๔ ดังนั้น แม้โจทก์จะฟ้องจำเลยเกินสิบปี นับแต่บิดาโจทก์และจำเลยซึ่งเป็นเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย คดีโจทก์ก็ไม่ขาดอายุความ
               ฎีกาที่ ๒๒๓๙/๒๕๕๙ ป.พ.พ. มาตรา ๑๗๓๓ วรรคสอง บัญญัติว่า “คดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกนั้น มิให้ทายาทฟ้องเกินกว่าห้าปีนับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลง” เห็นว่า แม้บทบัญญัติดังกล่าวจะเป็นบทจำกัดอายุความฟ้องร้องเป็นกรณีพิเศษให้ทายาททั้งหลายต้องดำเนินการฟ้องร้องผู้จัดการมรดกในการกรณีที่จัดการมรดก หรือแบ่งปันทรัพย์มรดกไม่ถูกต้องเสียภายในเวลาห้าปีนับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลงก็ตาม แต่ต้องหมายถึงกรณีที่ผู้จัดการมรดกดำเนินการแบ่งปันทรัพย์มรดก หรือจัดการทรัพย์มรดกไปตามปกติมิใช่กรณีที่ผู้จัดการมรดกจัดการมรดกโดยมิชอบ ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือเป็นกรณีที่เบียดบังยักยอก และปกปิดโดยทายาทไม่รับรู้ เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามทางนำสืบของโจทก์ว่า นับตั้งแต่จำเลยที่ ๑ ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้จัดการมรดกยังไม่มีการแบ่งปันทรัพย์มรดกของผู้ตายให้แก่ทายาทอื่นเลย นอกจากจดทะเบียนโอนขายแก่จำเลยที่ ๒ จำเลยที่ ๒ มิใช่บุตรคนเดียวของผู้ตายกับจำเลยที่ ๑ แต่มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันถึง ๕ คน บางคนก็แยกไปประกอบอาชีพที่อื่น ไม่ปรากฏว่าผู้ตายทำพินัยกรรมไว้ จำเลยที่ ๑ ย่อมทราบดีว่าทรัพย์มรดกของผู้ตายต้องตกได้แก่พี่น้องคนอื่นด้วย จำเลยที่ ๑ จึงไม่มีอำนาจจะโอนขายที่ดินส่วนที่เป็นทรัพย์มรดกไปให้แก่ผู้อื่นโดยทายาทมิได้ ให้ความยินยอมทุกคน จำเลยที่ ๒ ก็ย่อมทราบข้อเท็จจริงนี้ดีเช่นกัน จะอ้างว่าเป็นผู้ไถ่ถอนที่ดินพิพาทและจำเลยที่ ๑ โอนที่ดินพิพาทให้เป็นการตอบแทนหาได้ไม่ กรณีไม่อาจถือได้ว่าจำเลยที่ ๒ รับโอนโดยสุจริต ดังนั้นการจัดการมรดกรายนี้จึงไม่ชอบ การจัดการมรดกจึงยังไม่สิ้นสุดลงตามกฎหมาย อายุความห้าปียังไม่เริ่มนับ คดีโจทก์ยังไม่ขาดอายุความ

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
               มาตรา ๑๗๓๓ การให้อนุมัติ การปลดเปลื้องความรับผิด หรือข้อตกลงอื่น ๆ อันเกี่ยวกับรายงานแสดงบัญชีการจัดการมรดกดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๗๓๒ นั้น จะสมบูรณ์ต่อเมื่อรายงานแสดงบัญชี นั้นได้ส่งมอบล่วงหน้าแก่ทายาทพร้อมด้วยเอกสารอันเกี่ยวกับการนั้นไม่น้อยกว่าสิบวันก่อนแล้ว
               คดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกนั้น มิให้ทายาทฟ้องเกินกว่าห้าปีนับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลง
               มาตรา ๑๗๕๔ ห้ามมิให้ฟ้องคดีมรดกเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปี นับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย หรือนับแต่เมื่อทายาทโดยธรรมได้รู้ หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก คดีฟ้องเรียกตามข้อกำหนดพินัยกรรม มิให้ฟ้องเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่เมื่อผู้รับพินัยกรรมได้รู้หรือควรได้รู้ถึงสิทธิซึ่งตนมีอยู่ตามพินัยกรรม
               ภายใต้บังคับแห่งมาตรา ๑๔๙๓/๒๗ แห่งประมวลกฎหมายนี้ ถ้าสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้อันมีต่อเจ้ามรดกมีกำหนดอายุความยาวกว่าหนึ่งปี มิให้เจ้าหนี้นั้นฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่เมื่อเจ้าหนี้ได้รู้ หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก
               ถึงอย่างไรก็ดี สิทธิเรียกร้องตามที่ว่ามาในวรรคก่อน ๆ นั้น มิให้ฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนดสิบปีนับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย