การจัดให้มีลานจอดรถสำหรับเป็นที่จอดรถของลูกค้าหรือผู้มาใช้บริการห้างสรรพสินค้าของจำเลยเป็นปัจจัยหนึ่งเพื่อจูงใจให้ลูกค้ามาซื้อสินค้า หรือใช้บริการจึงเป็นการให้บริการอย่างหนึ่งของจำเลยแก่ลูกค้าจำเลยย่อมต้องมีหน้าที่ที่จะต้องดูแลรักษาความปลอดภัยแก่ทรัพย์สินของลูกค้าซึ่งรวมถึงรถยนต์ของลูกค้าที่นำมาจอดบริเวณลานจอดรถของห้างสรรพสินค้าจำเลยด้วย แม้จำเลยยินยอมให้บุคคลทั่วไปนำรถยนต์มาจอดที่ลานจอดรถก็ไม่ทำให้จำเลยหลุดพ้นจากหน้าที่ที่จะต้องให้การดูแลรักษาความปลอดภัยและทรัพย์สินของลูกค้า จำเลยจึงมีหน้าที่ที่ต้องดูแลรถกระบะที่ลูกค้าของจำเลยนำมาจอดในลานจอดรถของห้างสรรพสินค้าจำเลย
               ห้างสรรพสินค้าจำเลยใช้มาตรการในการดูแลรักษาความปลอดภัยให้แก่รถยนต์ของลูกค้าโดยมีพนักงานคอยตรวจสอบดูแลรถยนต์ในขณะที่เข้าหรือออกจากลานจอดรถของห้างสรรพสินค้าจำเลยหากไม่มีบัตรที่มอบให้ในขณะที่นำรถยนต์เข้ามาจอด ก็ไม่สามารถนำรถยนต์ออกไปจากลานจอดรถของห้างสรรพสินค้าจำเลยได้ อันเป็นมาตรการในการตรวจสอบที่ค่อนข้างจะรัดกุม แต่จำเลยกลับยกเลิกไปและนำกล้องวงจรปิดมาติดตั้งไว้บริเวณทางเข้าออกลานจอดรถแทนและติดป้ายเตือนไว้ที่ลานจอดรถของห้างสรรพสินค้าจำเลยว่าลูกค้าต้องดูแลทรัพย์สินของตนเอง เท่ากับจำเลยงดเว้นหน้าที่ที่จะต้องดูแลรถยนต์ของลูกค้าโดยลูกค้าต้องเสี่ยงภัยเองทั้งการติดตั้งกล้องวงจรปิดเป็นอุปกรณ์บันทึกภาพรถยนต์เข้าออกไม่สามารถป้องกันการโจรกรรมได้ นับว่าเป็นมาตรการที่ไม่เพียงพอที่จะดูแลรักษาความปลอดภัยให้แก่รถยนต์ของลูกค้าการที่รถกระบะที่ออกขับมาจอดที่ลานจอดรถของจำเลยสูญหายไปจึงเกิดจากการงดเว้นในการปฏิบัติหน้าที่อันเป็นความประมาทเลินเล่อของจำเลย
               ตามฎีกานี้ มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่า
               ๑.จำเลยมีหน้าที่ต้องดูแลรักษารถยนต์กระบะที่ลูกค้านำมาจอดที่ลานจอดรถของห้างสรรพสินค้าจำเลยหรือไม่
               ๒.เหตุที่รถยนต์กระบะสูญหายเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยหรือไม่

               ท่านพิสิฐ ธรรมกุล ได้เขียนหมายเหตุไว้ท้ายคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๕๕๐๘/๒๕๖๐ ไว้ว่า “หลักในการพิจารณาที่ผู้ประกอบการต้องรับผิด ดังนี้
๑.ถ้าการจัดที่จอดรถของผู้ประกอบการมีลักษณะเป็นการเชื้อเชิญ จูงใจให้ประชาชนมาซื้อสินค้าและบริการทำให้ธุรกิจของตนได้กำไรมากขึ้น กรณีนี้หากผู้บริโภคนำรถมาเพื่อใช้บริการ ผู้ประกอบการต้องรับผิด โดยมิต้องพิจารณาว่า ผู้ประกอบการเก็บค่าจอดรถจากบัตรจอดรถหรือไม่
๒.ถ้าการสูญหายของรถ แม้จอดในที่ที่ผู้ประกอบการจัดหาไว้ให้ แต่การที่รถสูญหายต้องเกิดจากความประมาทเลินเล่อของผู้ประกอบการ รวมถึงบริษัทรักษาความปลอดภัยซึ่งถือเป็นตัวแทนของผู้ประกอบการด้วย
๓.การจัดที่จอดรถของผู้ประกอบการ ต้องเพื่อประโยชน์ต่อธุรกิจในทางการค้าของตนเท่านั้น มิใช่เพียงเพื่อประโยชน์โดยรวมของการตลาดหรือผู้อื่น และ
๔.โจทก์ จำเลย หรือคู่ความต้องมีนิติสัมพันธ์ หรือมีหน้าที่ต่อกันตามกฎหมายหรือตามสัญญา
แต่เดิม กรณีรถหายในสถานที่ที่ผู้ประกอบการจัดไว้เป็นสัญญาฝากทรัพย์ตาม ป.พ.พ. บรรพ ๓ ลักษณะ ๑๐ ต่อมาเมื่อมีการตรากฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคที่กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีพิจารณา ตลอดจนแนวคิดเรื่องความไม่เสมอภาค ระหว่างผู้ประกอบธุรกิจและผู้บริโภค โดยมองว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่มักมีอำนาจต่อรองที่สูงกว่า และการที่ผู้บริโภคนำรถเข้าไปจอดเพื่อซื้อสินค้าและบริการ ผู้ประกอบการได้ประโยชน์ส่งผลให้มีคำพิพากษาศาลฎีกาหลายฉบับ ไม่นำเรื่องสัญญาฝากทรัพย์มาปรับใช้แก่คดี โดยปรับกฎหมายในเรื่องละเมิดซึ่งเป็นนิติเหตุ และตามหลักกฎหมายเฉพาะมาใช้บังคับแก่คดีแทน(คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๖๐๙๙/๒๕๖๐, ๘๙๐๘/๒๕๖๐, ๗๐๗๘/๒๕๖๐)
อย่างไรก็ดี มีคำพิพากษาศาลฎีกาอีกจำนวนมากที่ศาลฎีกาจะให้ผู้ประกอบการหรือผู้ประกอบธุรกิจรับผิดกรณีรถสูญหายในที่ที่จัดไว้โดยจะพิจารณานิติสัมพันธ์ของคู่ความในหลากหลายมิติไม่ว่าพิจารณาในฐานะผู้ประกอบธุรกิจกับผู้บริโภค(คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๖๐๙๙/๒๕๖๐, ๕๘๐๐/๒๕๕๓) พิจารณาในฐานะผู้มีหน้าที่ตามกฎหมายเฉพาะ เช่น พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร(คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๕๘๐๐/๒๕๕๓, ๘๙๐๘/๒๕๖๐, ๗๐๗๘/๒๕๖๐) พิจารณาในฐานะความสัมพันธ์ตามพฤติการณ์พิเศษระหว่างคู่สัญญา(คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๕๑๓/๒๕๕๔) และพิจารณาในฐานะมูลหนี้นิติกรรมสัญญาเฉพาะคดี(คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๔๐๙๕/๒๕๓๙) รวมทั้งพิจารณาความสัมพันธ์ในมูลนิติเหตุหรือในมูลละเมิด (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๙๓๖/๒๕๔๙) เป็นต้น”

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
               มาตรา ๔๒๐ ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำต่อบุคคลอื่น โดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่า ผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น
อ่านฎีกาที่ ๕๕๐๘/๒๕๖๐ http://www.dekasuksa.com/2019/03/blog-post_5.html