การเพิ่มเติมเปลี่ยนแปลงข้อบังคับหรือข้อความในหนังสือบริคณห์สนธิ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๑๔๕ และมาตรา ๑๑๔๖ กำหนดว่า จะกระทำได้ต่อเมื่อมีการลงมติพิเศษซึ่งจะต้องมีการประชุมใหญ่โดยมีคำบอกกล่าวเรียกประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อลงมติพิเศษและกำหนดให้เป็นหน้าที่ของบริษัทจะต้องจัดให้ไปจดทะเบียนภายในสิบสี่วันนับแต่วันที่ได้มีการลงมติพิเศษ เหตุที่กฎหมายบัญญัติให้เป็นหน้าที่ของบริษัทจะต้องนำเรื่องไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็เนื่องจากเป็นเรื่องสำคัญ เพราะการแก้ไขเพิ่มเติมจำนวนกรรมการเข้าใหม่ แก้ไขเพิ่มเติมจำนวนหรือชื่อกรรมการที่ลงชื่อเป็นสำคัญผูกพันบริษัท เป็นกรณีที่จำต้องใช้เอกสารยืนยันอำนาจของกรรมการที่ลงชื่อผูกพันบริษัท เป็นพยานหลักฐานที่มีการรับรองโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นที่เชื่อถือได้ในทางกฎหมาย เพราะมีผลกระทบต่อบุคคลภายนอกเนื่องจากกิจการของจำเลยที่ ๑ มิได้เป็นเพียงนิติบุคคลที่จดทะเบียนจัดตั้งมาจัดตั้งขึ้นมาเพื่อดำเนินกิจการเกี่ยวข้องแต่เฉพาะโจทย์ทั้งหก จำเลยที่ ๒ ป. และ อ. เท่านั้น แต่มีวัตถุประสงค์ในการประกอบธุรกิจการค้าและให้บริการด้านอสังหาริมทรัพย์ ที่ดิน ที่พักอาศัย อาคารชุด อาคารพาณิชย์และอื่นๆ จำเลยที่ ๑ จึงต้องมีการติดต่อสัมพันธ์และทำธุรกรรมทางการเงินกับนิติบุคคลหรือบุคคลอื่นด้วย ซึ่งอาจจะได้รับผลกระทบจากการดำเนินการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นนั้น และอาจก่อให้เกิดความเสียหายทางการเงินและธุรกิจการค้าต่อบุคคลภายนอกได้ จึงไม่อาจอ้างความเคยชินและความไว้วางใจระหว่างผู้ถือหุ้นถือเป็นประเพณีปฏิบัติของจำเลยทั้งสอง ซึ่งในการเช่นนั้นตลอดมาเพื่อเป็นข้อยกเว้นไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย อีกทั้งการที่จำเลยทั้งสองมอบอำนาจให้ น. ไปยื่นคำขอจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมหนังสือบริคณห์สนธิต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครโดยอ้างว่ามีการบอกกล่าวนัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นโดยลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือพิมพ์และส่งทางไปรษณีย์ตอบรับส่งมอบให้แก่ตัวผู้ถือหุ้นแล้ว และที่ประชุมวิสามัญมีมติพิเศษให้แก้ไขเพิ่มเติมหนังสือบริคณห์สนธิโดยไม่เป็นความจริง การกระทำดังกล่าวของจำเลยทั้งสอง ถือได้ว่าเป็นความผิดสำเร็จแล้ว จำเลยทั้งสองจึงมีความผิดฐานร่วมกันแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน และร่วมกันแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๓๗ และมาตรา ๒๖๗ เมื่อจำเลยทั้งสองได้ใช้เอกสารที่นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครรับดำเนินการจดทะเบียนให้ตามคำขอของจำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองจึงมีความผิดตามมาตรา ๒๖๘ วรรคแรกด้วย
ตามฎีกานี้ โจทก์ที่ ๑ ถึงที่ ๔ ขณะเกิดเหตุเป็นเพียงผู้ถือหุ้นบริษัทจำเลยที่ ๑ ซึ่งศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เป็นผู้เสียหายและมีอำนาจฟ้อง ซึ่งจำเลยทั้งสองความผิดฐานร่วมกันแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน และร่วมกันแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๓๗ และมาตรา ๒๖๗ ดังนั้น โจทก์ที่ ๑ ถึงที่ ๔ จึงเป็นผู้เสียหายตามมาตรา ๑๓๗ ด้วย
ฎีกาที่ ๓๒๕๒/๒๕๔๕ วินิจฉัยว่า ในความผิดฐานใช้เอกสารปลอม การยื่นเอกสารปลอมต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท เพื่อเปลี่ยนแปลงกรรมการผู้จัดการบริษัท โดยถอนชื่อกกรมการผู้จัดการดังกล่าวออกจากตำแหน่ง ย่อมเกิดผลกระทบโดยตรงต่อสถานะและความเป็นผู้แทนนิติบุคคล กรรมการผู้จัดการเป็นผู้เสียหายในความผิดฐานใช้เอกสารปลอม

ประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา ๑๓๗ ผู้ใดแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๒๖๗ ผู้ใดแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่จดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารมหาชนหรือเอกสารราชการ ซึ่งมีวัตถุประสงค์สำหรับใช้เป็นพยานหลักฐานโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๒๖๘ ผู้ใดใช้หรืออ้างเอกสารอันเกิดจากการกระทำความผิดมาตรา ๒๖๔ มาตรา ๒๖๕ มาตรา ๒๖๖ หรือมาตรา ๒๖๗ ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ต้องระวางโทษตามที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้นๆ
ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคแรก เป็นผู้ปลอมเอกสารนั้น หรือเป็นผู้แจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความนั้นเอง ให้ลงโทษตามมาตรานี้แต่กระทงเดียว

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา ๑๑๔๕ จำเดิมแต่ได้จดทะเบียนบริษัทแล้ว ท่านห้ามมิให้ตั้งข้อบังคับขึ้นใหม่ หรือเพิ่มเติมเปลี่ยนแปลงข้อบังคับหรือข้อความในหนังสือบริคณห์สนธิแต่อย่างหนึ่งอย่างใด เว้นแต่จะได้มีการลงมติพิเศษ
มาตรา ๑๑๔๖ บรรดาข้อบังคับได้ตั้งขึ้นใหม่ หรือได้เพิ่มเติมเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นหน้าที่ของบริษัทที่จะจัดให้ไปจดทะเบียนภายในกำหนดสิบสี่วันนับแต่วันที่ได้มีการลงมติพิเศษ