แม้ผู้ร้องมิได้ร้องขอให้บังคับคดีในคดีที่ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาภายในสิบปี ทำให้สิ้นสิทธิในการบังคับคดีดังกล่าวตาม ป.วิ.พ.มาตรา ๒๗๑ (เดิม) ก็ตาม แต่ทรัพยสิทธิจำนองของผู้ร้องยังคงอยู่ซึ่งการบังคับคดีของโจทก์ในคดีนี้ย่อมไม่อาจกระทบกระทั่งถึงบุริมสิทธิจำนองของผู้ร้อง ซึ่งเป็นผู้รับจำนองที่ดินดังกล่าวจากจำเลย ศ. และ ส. ซึ่งชอบที่จะได้เงินที่ขายหรือจำหน่ายทรัพย์สินจำนองในคดีนี้ก่อนเจ้าหนี้อื่น โดยยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นในคดีนี้ให้เอาเงินที่ได้มานั้นชำระหนี้ตนก่อนเจ้าหนี้รายอื่นตาม ป.วิ.พ.มาตรา ๒๘๗ (เดิม) แต่จะบังคับเอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระในการจำนองเกินกว่า ๕ ปี ไม่ได้ ตาม ป.พ.พ.มาตรา ๑๙๓/๒๗ ประกอบมาตรา ๗๔๕ และในกรณีที่โจทก์สละสิทธิในการบังคับคดีหรือเพิกเฉยไม่ดำเนินการบังคับคดีภายในเวลาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีกำหนด ให้ผู้ร้องดำเนินการบังคับคดีต่อไปตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๒๙๐ วรรคแปด (เดิม)
ตามฎีกานี้ มีปัญหาที่ศาลฎีกาต้องวินิจฉัยว่า ผู้ร้องมีสิทธิได้รับชำระหนี้จำนองจากเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดก่อนเจ้าหนี้รายอื่นตาม ป.วิ.พ.มาตรา ๒๘๙ (เดิม) หรือไม่

เพิ่มเติม
               มาตรา ๒๘๙ (เดิม) ปัจจุบันคือมาตรา ๓๒๒ แต่หลักการทำนองเดียวกัน ซึ่งมาตรา ๓๒๒ บัญญัติว่า “ภายใต้บังคับมาตรา ๓๒๓ และมาตรา ๓๒๔ บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาย่อมไม่กระทบกระทั่งถึงทรัพยสิทธิ บุริมสิทธิ สิทธิยึดหน่วง หรือสิทธิอื่นซึ่งบุคคลภายนอกมีอยู่เหนือทรัพย์สินหรืออาจร้องขอให้บังคับเหนือทรัพย์สินนั้นตามกฎหมาย”
               ทรัพยสิทธิตามมาตรา ๓๒๒ หมายถึง ทรัพยสิทธิตาม ป.พ.พ. บรรพ ๔ ทรัพย์สิน และตามกฎหมายอื่น คำว่า “ตามกฎหมายอื่น” ในที่นี้จะเป็นกฎหมายสารบัญญัติหรือวิธีสบัญญัติก็ได้ เช่น สิทธิจำนอง, สิทธิจำนำ, ป.วิ.พ.มาตรา ๓๒๖, ป.วิ.มาตรา ๑๑๙
              
อ้างอิง
สมชัย ฑีฆาอุตมากร. ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง การบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง ฉบับสมบูรณ์. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์กรุงสยามพับลิชชิ่ง, ๒๕๖๑.