คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๖๖๑/๒๕๖๑
ฎีกาของจำเลยที่ว่า จำเลยไม่เห็นพ้องด้วยกับศาลชั้นต้นที่วินิจฉัยว่าพยานหลักฐานที่อยู่ของจำเลยมีน้ำหนักน้อย เพราะหากพิจารณาพยานหลักฐานประกอบเข้าด้วยกันแล้ว เชื่อได้ว่าจำเลยไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุและไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้อง เป็นฎีกาโต้แย้งเฉพาะคำพิพากษาศาลชั้นต้นมิได้โต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๙ ว่าพิพากษาไม่ถูกต้องอย่างไร เป็นฎีกาที่ไม่ได้คัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๙ เป็นการไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ.มาตรา ๒๑๖ วรรคหนึ่ง แม้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงและสั่งรับฎีกาของจำเลยในข้อนี้มา ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
               การกระทำที่จะเป็นความผิดต่อ ป.อ.มาตรา ๓๓๖ ทวิ นั้น ต้องดูที่เจตนาของผู้กระทำผิดเป็นสำคัญว่าต้องการใช้ยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำผิดหรือการพาทรัพย์นั้นไป หรือเพื่อให้พ้นการจับกุมหรือไม่ จำเลยมีเจตนาจะลักรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายอยู่ก่อนแล้ว จึงวางอุบายหลอกใช้รถจักรยานยนต์ของ อ. เป็นยานพาหนะเดินทางไปที่บ้านที่เกิดเหตุแล้วลงมือลักรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายทันทีโดยไม่ปรากฏว่าก่อนเกิดเหตุจำเลยใช้รถจักรยานยนต์ไปกระทำกิจธุระอื่นใดอีก เหตุลักทรัพย์มิใช่เรื่องที่เกิดขึ้นโดยปัจจุบันทันด่วน แต่เป็นเรื่องที่จำเลยวางแผนตระเตรียมการที่จะใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำผิดไว้ล่วงหน้าแล้ว การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานลักทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะตาม ป.อ.มาตรา ๓๓๖ ทวิ
              
เพิ่มเติม
               การกระทำที่จะเป็นความผิดต่อ ป.อ.มาตรา ๓๓๖ ทวิ นั้น ต้องดูเจตนาของผู้กระทำผิดเป็นส่วนสำคัญว่าต้องการใช้ยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำผิดหรือการทรัพย์นั้นไป หรือเพื่อให้พ้นการจับกุมหรือไม่ กล่าวคือ ต้องมีเจตนานำรถมาใช้ตั้งแต่แรก ไม่ใช่ทำผิดแล้วใช้รถของผู้เสียหายหลบหนีไป(ฎีกาที่ ๑๔๘๖/๒๕๔๖) 


ประมวลกฎหมายอาญา
               มาตรา ๓๓๖ ทวิ ผู้ใดกระทำความผิดตามมาตรา ๓๓๔ มาตรา ๓๓๕ มาตรา ๓๓๕ ทวิ หรือมาตรา ๓๓๖ ...หรือโดยใช้ยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำผิดหรือการพาทรัพย์นั้นไป หรือเพื่อให้พ้นการจับกุม ต้องระวางโทษหนักกว่าที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้น ๆ กึ่งหนึ่ง

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
               มาตรา ๒๑๖ ภายใต้บังคับแห่งมาตรา ๒๑๗ ถึง ๒๒๑ คู่ความมีอำนาจฎีกาคัดค้านคำพิพากษา หรือคำสั่งศาลอุทธรณ์ภายในหนึ่งเดือน นับแต่วันอ่าน หรือถือว่าได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นให้คู่ความฝ่ายที่ฎีกาฟัง

อ้างอิง
สหรัฐ กิติ ศุภการ.หลักและคำพิพากษากฎหมายอาญา พิมพ์ครั้งที่ ๒ ปรับปรุงใหม่. กรุงเทพฯ:        สำนักพิมพ์อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, ๒๕๕๗.