คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๒๗๒/๒๕๖๐
                ในช่วงเวลาเกิดเหตุผู้ตายเดินถือมีดของกลางเข้าหาจำเลยในลักษณะมีเจตนาจะใช้มีดเป็นอาวุธแทงประทุษร้ายจำเลย อันเป็นการละเมิดต่อกฎหมายและเป็นอันตรายที่ใกล้จะถึง จำเลยย่อมมีสิทธิที่จะกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อป้องกันตนเองได้ ซึ่งการที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้ตาย ๒ นัด โดยถูกผู้ตายบริเวณต้นขาขวาทั้งสองนัดในขณะที่ผู้ตายมีอาการเมาสุราและผู้ตายมีอายุมากกว่าจำเลย นับว่าน่าจะหยุดยั้งการกระทำของผู้ตายได้แล้ว การที่จำเลยยังเลือกยิงผู้ตายอีก ๑ นัด ถูกบริเวณหน้าอกอันเป็นอวัยวะสำคัญจนผู้ตายถึงแก่ความตาย ดังนี้ ไม่เป็นการป้องกันตัวพอสมควรแก่เหตุ แต่เป็นการป้องกันเกินกว่ากรณีแห่งความจำต้องกระทำเพื่อป้องกันตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๖๙

ข้อสังเกต
                - ในช่วงเวลาเกิดเหตุผู้ตายเดินถือมีดของกลางเข้าหาจำเลยในลักษณะมีเจตนาจะใช้มีดเป็นอาวุธแทงประทุษร้ายจำเลย อันเป็นการละเมิดต่อกฎหมายและเป็นอันตรายที่ใกล้จะถึง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๖๘
                - การที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้ตาย ๒ นัด โดยถูกผู้ตายบริเวณต้นขาขวาทั้งสองนัดในขณะที่ผู้ตายมีอาการเมาสุราและผู้ตายมีอายุมากกว่าจำเลย นับว่าน่าจะหยุดยั้งการกระทำของผู้ตายได้แล้ว ถ้าแค่นี้ถือเป็นการป้องกันพอสมควรแก่เหตุ

                โจทก์ฟ้องว่า จำเลยโดยมีเจตนาฆ่า ใช้อาวุธปืนดังกล่าวยิงผู้ตาย ๓ นัด กระสุนปืนถูกบริเวณต้นขาขวา และบริเวณหน้าอกด้านซ้ายทะลุถูกลำไส้ภายในฉีกขาด เป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย
                จำเลยให้การ ข้อหาฆ่าผู้อื่นให้การต่อสู้อ้างเหตุป้องกัน
                ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘ ฐานฆ่าผู้อื่นจำคุก ๒๐ ปี คำให้การและทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงจำคุก ๑๓ ปี ๔ เดือน
                จำเลยอุทธรณ์
                จำเลยฎีกา
                ๑.จากการตรวจสถานที่เกิดเหตุของร้อยตำรวจโท ธ. ที่กระทำร่วมกับผู้บังคับบัญชาซึ่งเป็นนายตำรวจระดับสูงและไม่ปรากฏข้อพิรุธว่ามีการสร้างพยานหลักฐานขึ้นใหม่หรือบิดเบือนพยานหลักฐานในที่เกิดเหตุ ทำให้เชื่อได้ว่าพยานหลักฐานที่พบในที่เกิดเหตุอยู่ในตำแหน่งที่ตรงตามความเป็นจริง
                ๒.พบผู้ตายถูกยิงนอนหงายอยู่หน้าประตูบ้านที่เกิดเหตุและในมือขวาของผู้ตายกำมีดอยู่
                ศาลฎีกาพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘ ประกอบมาตรา ๖๙ จำคุก ๔ ปี   จำเลยนำสืบเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้หนึ่งในสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงจำคุก ๓ ปี....................( ตาม ป.อ.มาตรา ๖๙ ซึ่งศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้ )

การป้องกันเกินกว่ากรณีแห่งความจำต้องกระทำเพื่อป้องกัน
                การป้องกันตามมาตรา ๖๙ เป็นการป้องกันที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งมี ๒ กรณี ได้แก่ ๑.การป้องกันเกินสมควรแก่เหตุ ๒. การป้องกันเกินกว่ากรณีแห่งการจำต้องกระทำเพื่อป้องกัน
                การป้องกันเกินกว่ากรณีแห่งความจำต้องกระทำเพื่อป้องกัน หมายถึง เป็นการกระทำโดยเจตนาพิเศษเพื่อป้องกันสิทธิต่อภยันตรายที่ยังอยู่ห่างไกลหรือต่อภยันตรายที่ผ่านพ้นไปแล้ว ( อ้างอิง เกียรติขจร วัจนะสวัสดิ์. คำอธิบายกฎหมายอาญา ภาค ๑ บทบัญญัติทั่วไป ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๑๐ แก้ไขเพิ่มเติม. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์ พลสยาม พริ้นติ้ง ประเทศไทย, ๒๕๕๑. ) ในตำราของ ดร.เกียรติขจร ดังกล่าว อ้างอิงบันทึกท้ายฎีกาของศาสตราจารย์จิตติ ติงศภัทิย์ ในฎีกาที่ ๗๘๒/๒๕๒๐ ว่า “...ยังไม่ทันถึงขั้นต้องป้องกันก็ยิง หรือเลยขั้นที่จำต้องป้องกันแล้วก็ยังยิง จึงเป็นเรื่องทำเกินกว่าที่จำต้องทำเพื่อป้องกัน...”
               
ประมวลกฎหมายอาญา
                มาตรา ๖๘  ผู้ใดจำต้องกระทำการใดเพื่อป้องกันสิทธิของตนหรือของผู้อื่นให้พ้นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง ถ้าได้กระทำพอสมควรแก่เหตุ การกระทำนั้นเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้นั้นไม่มีความผิด

                มาตรา ๖๙  ในกรณีที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๖๗ และมาตรา ๖๘ นั้น ถ้าผู้กระทำได้กระทำไปเกินสมควรแก่เหตุ หรือเกินกว่ากรณีแห่งความจำเป็น หรือเกินกว่ากรณีแห่งการจำต้องกระทำเพื่อป้องกัน ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้ แต่ถ้าการกระทำนั้นเกิดขึ้นจากความตื่นเต้น ความตกใจ หรือความกลัว ศาลจะไม่ลงโทษผู้กระทำก็ได้
                มาตรา ๒๘๘  ผู้ใดฆ่าผู้อื่น ต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี