ปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน

               ฎีกาที่ ๘๓๓๓/๒๕๖๐ ปัญหาว่า การจดทะเบียนหย่าระหว่างจำเลยและ ส. มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายหรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่ให้ศาลมีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้โดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดกล่าวอ้าง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณา ความแพ่ง มาตรา ๑๔๒ (๕)

               ฎีกาที่ ๓๒๗๓/๒๕๖๓ การที่ผู้เสียหายจะมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๔๔/๑ นั้น ค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวจะต้องเป็นความเสียหายที่เกิดจากการกระทำความผิดที่พนักงานอัยการโจทก์ฟ้องร้องเท่านั้น จะเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากความเสียหายที่เกิดจากการกระทำความผิดที่ไม่ถูกฟ้องไม่ได้ เมื่อพนักงานอัยการโจทก์ไม่ได้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานฆ่าผู้อื่น ผู้ร้องที่ ๑ จึงไม่อาจเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าปลงศพ และค่าขาดไร้อุปการะได้ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยมิได้ยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๑๔๒ (๕), ๒๔๖, ๒๕๒ ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา ๔๐

               ฎีกาที่ ๖๑๐๓/๒๕๖๒ เมื่อ ก. ถึงแก่ความตายทรัพย์มรดกตกแก่ทายาทของ ก. คือ บุตรทั้ง ๙ คน รวมทั้งโจทก์และบิดาจำเลย ดังนั้น บิดาจำเลยจึงมีสิทธิในที่ดินมรดกพิพาท ๑ ใน ๙ ส่วน และมีสิทธิยกส่วนของตนให้แก่จำเลยได้ และเมื่อจำเลยมีสิทธิในที่ดินมรดกพิพาท ๑ ส่วน จึงเป็นเจ้าของรวมและมีสิทธิใช้สอยที่ดินมรดกพิพาท ทั้งโจทก์ไม่ได้ฟ้องและนำสืบว่า การที่จำเลยสร้างสิ่งปลูกสร้างขึ้นใหม่ในที่ดินมรดกพิพาทเป็นการใช้สิทธิขัดต่อสิทธิของโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลย แม้จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ แต่อำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ซึ่งศาลมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัย ตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๑๔๒ (๕)

               ฎีกาที่ ๗๙๙๔/๒๕๖๑ เมื่องานที่โจทก์ทำให้จำเลยชำรุดบกพร่อง โจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องให้จำเลยชำระหนี้นั้น ถูกต้องแล้ว แต่ศาลชั้นต้นยังคงต้องวินิจฉัยให้จำเลยชำระค่าการงานที่ได้ทำให้โจทก์อีก เมื่อศาลชั้นต้นยังไม่ได้วินิจฉัยในส่วนนี้จึงเป็นการไม่ชอบ กรณีจึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายว่าด้วยการพิจารณาตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๒๔๓ (๒) แม้โจทก์ไม่อุทธรณ์ฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ที่ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๑๔๒ (๕) ประกอบมาตรา ๒๔๖, ๒๔๗ (เดิม)

               ฎีกาที่ ๖๖๒๗/๒๕๖๐ จำเลยร่วมทั้งสองเป็นคู่ความที่ถูกหมายเรียกให้เข้ามาในคดีตามคำร้องของจำเลยตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๕๗ (๓) ย่อมมีสิทธิเสมือนหนึ่งว่าตนได้ฟ้องหรือถูกฟ้องเป็นคดีเรื่องใหม่และอาจได้รับหรือถูกบังคับให้ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๕๘ วรรคหนึ่ง เมื่อที่ดินพิพาทเป็นที่ดินตามใบจองของโจทก์ ก็ชอบที่จะบังคับห้ามมิให้จำเลยร่วมทั้งสองเข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาท ตลอดจนรับผิดชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมด้วย ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๑๔๒ (๕) ประกอบมาตรา ๒๔๖ และ ๒๔๗ (เดิม)

               ฎีกาที่ ๓๗๙๐/๒๕๖๐ คดีนี้ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งให้ผู้ร้องคัดค้านที่ ๑ และผู้คัดค้านที่ ๒ ร่วมกันเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ทั้งผู้คัดค้านที่ ๒ และฝ่ายผู้ร้องคัดค้านที่ ๑ ต่างยื่นคำร้องขอให้ถอนอีกฝ่ายออกจากการเป็นผู้จัดการมรดก ประเด็นแห่งคดีจึงมีว่า มีเหตุสมควรที่จะถอนผู้ร้องคัดค้านที่ ๑ หรือผู้คัดค้านที่ ๒ ออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกเพราะเหตุละเลยไม่ทำตามหน้าที่หรือมีเหตุอย่างอื่นที่สมควรหรือไม่ การที่ผู้ร้องคัดค้านที่ ๑ และผู้คัดค้านที่ ๒ ตกลงท้ากันให้ศาลชั้นต้นชี้ขาดว่าที่ดินมรดกของผู้ตายเป็นสินส่วนตัวหรือสินสมรสของผู้ตาย เพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยอันมีผลให้คู่ความฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดถูกถอนออกจากการเป็นผู้จัดการมรดก โดยมิใช่เหตุตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ จึงมิใช่เป็นการตกลงกันเกี่ยวกับประเด็นแห่งคดีนี้โดยตรง เป็นเรื่องที่ต้องไปว่ากล่าวกันเป็นคดีอื่นต่างหาก การที่ศาลชั้นต้นไม่ดำเนินการไต่สวนคำร้องขอแต่กลับพิจารณาตามคำท้าหรือข้อตกลงของคู่ความทั้งสองฝ่าย ถือเป็นการที่ศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติตามกฎหมาย เห็นควรให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาและมีคำสั่งใหม่ให้ถูกต้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๒๔๓ (๒) ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน