คำพิพากษาฎีกาที่ ๙๒๒/๒๕๖๓ 

                         มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์มีฐานะเป็นสถาบันอุดมศึกษาของรัฐในกำกับของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไม่เป็นส่วนราชการที่อยู่ในสังกัดของกระทรวงดังกล่าว ทั้งพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ๒๕๔๕ ด้วยส่วนราชการของกระทรวงและส่วนราชการที่มีฐานะเป็นกระทรวง ไม่ปรากฏว่ามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เป็นส่วนราชการในสังกัดของกระทรวงหรือที่มีฐานะเป็นกระทรวง จำเลยทั้งสิบสองจึงมิใช่ผู้ที่ได้รับแต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐที่เป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการแผ่นดินซึ่งเป็นกฎหมายทั่วไปและพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ พ.ศ. ๒๕๓๕ ซึ่งเป็นกฎหมายเฉพาะทั้งฉบับ ไม่ปรากฏว่ามีบทมาตราใดบัญญัติว่าการปฏิบัติหน้าที่ในการดำเนินการของผู้ปฏิบัติหน้าที่ในมหาวิทยาลัยเป็นเจ้าพนักงานตามความในประมวลกฎหมายอาญาด้วย ทั้งไม่มีบทบัญญัติมาตราใดแห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ ให้การปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยทั้งสิบสองที่เกี่ยวกับกิจการของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการตามคำนิยามในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑ (๑) การปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ และที่ ๑๒ ที่มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงของโจทก์ จำเลยที่ ๑ มีคำสั่งย้ายโจทก์ และจำเลยทั้งสิบสองกระทำให้มีการเปิดเผยข้อมูลการสอบสวนวินัยร้ายแรงโจทก์ตามคำฟ้องมิใช่การปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗ ประกอบ มาตรา ๑ (๑๖)

 

               ตามฎีกานี้ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ ในกำกับของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไม่เป็นส่วนราชการในสังกัดของกระทรวงหรือที่มีฐานะเป็นกระทรวง

 

เพิ่มเติม

               ฎีกาที่ ๑๘๑๖๑/๒๕๕๗ การกระทำอันจะเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา ๑๕๗ ผู้กระทำต้องเป็นเจ้าพนักงานตามความในประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งหมายถึงผู้ปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐที่เป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการแผ่นดิน หรือผู้ปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐอื่นที่มีกฎหมายบัญญัติให้เป็นเจ้าพนักงานตามความในประมวลกฎหมายอาญา หรือผู้ที่มีกฎหมายบัญญัติว่าหากได้รับแต่งตั้งจากผู้มีอำนาจหน้าที่ให้ถือว่าเป็นเจ้าพนักงานตามความในประมวลกฎหมายอาญา

 

ประมวลกฎหมายอาญา

               (๑๖) “เจ้าพนักงาน” หมายความว่า บุคคลซึ่งกฎหมายบัญญัติว่าเป็นเจ้าพนักงานหรือได้รับแต่งตั้งตามกฎหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ราชการ ไม่ว่าเป็นประจำหรือครั้งคราว และไม่ว่าจะได้รับค่าตอบแทนหรือไม่