คำพิพากษาฎีกาที่ ๗๒๐๔/๒๕๖๒ 

               ผู้เสียหายทั้งสี่ยอมจ่ายเงินให้แก่จำเลยเพราะกลัวว่าจะถูกจำเลยกับพวกทำร้าย การกระทำของจำเลยที่ใช้เหล็กแป็บที่หลังผู้เสียหายที่ ๑ พวกของจำเลยล็อกคอผู้เสียหายที่ ๑ และจำเลยกับพวกพูดว่าหากไม่ได้เงินมีเรื่องแน่ เป็นการข่มขืนใจผู้เสียหายทั้งสี่ให้ยอมให้เงินและแหวนทองคำ ซึ่งเป็นทรัพย์สินมูลค่าน้อยกว่าที่จำเลยกับพวกต้องการ จึงไม่เข้าลักษณะเป็นการขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้าย อันจะเป็นความผิดฐานร่วมกันชิงทรัพย์โดยกระทำความผิดร่วมกันตั้งแต่สามคนขึ้นไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๐ วรรคสอง ประกอบมาตรา ๓๔๐ ตรี, ๘๓ แต่เข้าลักษณะเป็นการข่มขืนใจผู้เสียหายทั้งสี่ให้ยอมให้จำเลยได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน โดยขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อเสรีภาพของผู้เสียหายทั้งสี่ เป็นความผิดฐานกรรโชกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๗ วรรคแรก

               โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกับพวกร่วมกันกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์ แม้ไม่ใช่ฐานความผิดที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๙๒ วรรคสาม แต่ความผิดฐานปล้นทรัพย์เป็นการ กระทำผิดฐานลักทรัพย์อันมีลักษณะเป็นการชิงทรัพย์ โดยร่วมกันกระทำความผิดตั้งแต่สามคนขึ้นไป ข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยร่วมกับพวกกระทำความผิดฐานกรรโชก ซึ่งเป็นความผิดฐานหนึ่งที่บัญญัติไว้ใน มาตรา ๑๑๙๒ วรรคสาม ดังนี้ ถือไม่ได้ว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้องในข้อสาระสำคัญ ทั้งมิให้ถือว่าข้อที่พิจารณาได้ความนั้นเป็นเรื่องเกินคำขอหรือโจทก์ไม่ ประสงค์ให้ลงโทษ เมื่อจำเลยให้การปฏิเสธโดยนำสืบอ้างฐานที่อยู่แสดงว่าจำเลยไม่หลงต่อสู้ศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานกรรโชกตามที่พิจารณาได้ความได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความ อาญา มาตรา ๑๒ วรรคสาม

 

               ตามฎีกานี้ ผู้เสียหายที่ ๑ รวบรวมเงินจากผู้เสียหายที่ ๓ และที่ ๔ ได้ ๘๓๐ บาท กับแหวนทองคำหนัก ๒ สลึง ๔,๔๐๐ บาท ของผู้เสียหายที่ ๒ นำมามอบให้จำเลย

 

ประมวลกฎหมายอาญา

               มาตรา ๓๓๗ ผู้ใดข่มขืนใจผู้อื่นให้ยอมให้หรือยอมจะให้ตนหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือโดยขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียงหรือ ทรัพย์สินของผู้ถูกขู่เข็ญหรือของบุคคลที่สาม จนผู้ถูกข่มขืนใจยอมเช่นว่านั้น ผู้นั้นกระทำความผิดฐานกรรโชก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี และปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท

               ถ้าความผิดฐานกรรโชกได้กระทำโดย

               (๑) ขู่ว่าจะฆ่า ขู่ว่าจะทำร้ายร่างกายให้ผู้ถูกข่มขืนใจ หรือผู้อื่นให้ได้รับอันตรายสาหัส หรือขู่ว่าจะทำให้เกิดเพลิงไหม้แก่ทรัพย์ของผู้ถูกข่มขืนใจหรือผู้อื่น หรือ

               (๒) มีอาวุธติดตัวมาขู่เข็ญ

               ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนสี่หมื่นบาท

              

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

               มาตรา ๑๙๒ ห้ามมิให้พิพากษา หรือสั่ง เกินคำขอ หรือที่มิได้กล่าวในฟ้อง

               ถ้าศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้อง ให้ศาล ยกฟ้องคดีนั้น เว้นแต่ข้อแตกต่างนั้นมิใช่ในข้อสาระสำคัญและทั้งจำเลยมิได้หลงต่อสู้ ศาลจะลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่ได้ความนั้นก็ได้

               ในกรณีที่ข้อแตกต่างนั้นเป็นเพียงรายละเอียด เช่น เกี่ยวกับเวลาหรือสถานที่กระทำความผิดหรือต่าง กันระหว่างการกระทำผิดฐานลักทรัพย์ กรรโชก รีดเอาทรัพย์ ฉ้อโกง โกงเจ้าหนี้ ยักยอก รับของโจร และ ทำให้เสียทรัพย์ หรือต่างกันระหว่างการกระทำผิดโดยเจตนากับประมาท มิให้ถือว่าต่างกันในข้อสาระสำคัญ ทั้งมิให้ถือว่าข้อที่พิจารณาได้ความนั้นเป็นเรื่องเกินคำขอหรือเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ เว้นแต่จะปรากฏแก่ศาลว่าการที่ฟ้องผิดไปเป็นเหตุให้จำเลยหลงต่อสู้ แต่ทั้งนี้ศาลจะลงโทษจำเลยเกินอัตราโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดที่โจทก์ฟ้องไม่ได้