คำพิพากษาฎีกาที่ ๕๘๔๐/๒๕๖๒

               การครอบครองที่จะให้ได้กรรมสิทธิ์ตามบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๘๒ ต้องเป็นการครอบครองทรัพย์สินที่ผู้อื่นมีกรรมสิทธิ์ ทั้งจะต้องเป็นการครอบครองในลักษณะที่เป็นปรปักษ์ต่อสิทธิของผู้อื่น กล่าวคือ เจ้าของเดิมจะต้องยังคงมีสิทธิอยู่ในทรัพย์สินนั้น ๆ ถ้าไม่มีสิทธิหรือสิทธิที่มีอยู่สิ้นไปแล้ว การที่คนใหม่เข้ามาใช้สิทธิครอบครองในทรัพย์สินแทน ก็หาใช่เป็นการครอบครองปรปักษ์ไม่

               ข้ออ้างตามคำร้องขอดังกล่าวเป็นการยืนยันว่า ท. ซึ่งเป็นตาของผู้ร้องเป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาททั้งสองแปลงมาตั้งแต่ที่ดินดังกล่าวมีเอกสารสิทธิเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) ต่อมาได้ยกที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้แก่ ห. มารดาของผู้ร้อง และ ห. ยกที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้แก่ผู้ร้อง ซึ่งการยกให้ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงดังกล่าวในขณะเป็นที่ดินมือเปล่าย่อมมีผลเป็นการโอนสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๗๘ เมื่อผู้ร้องบรรยายคำร้องขอเป็นการยืนยันความเป็นเจ้าของสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงของผู้ร้องมาตั้งแต่ต้นเช่นนี้ ผู้ร้องก็ไม่อาจอ้างการได้มาซึ่งที่ดินพิพาททั้งสองแปลง โดยการครอบครองปรปักษ์ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๘๒ ได้ คดีจึงไม่มีประเด็นเรื่องการครอบครองปรปักษ์


เพิ่มเติม

               ฎีกาที่ ๖๑๘๒/๒๕๕๘ ผู้ร้องอ้างว่าบิดาผู้ร้องเป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทมาตั้งแต่ที่ดินพิพาทยังไม่มีเอกสารสิทธิ และบิดาผู้ร้องได้ยกที่ดินพิพาทให้ผู้ร้อง แม้ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมีโฉนดในภายหลังก็ตาม แต่ก็ไม่ปรากฏว่าผู้ร้องเข้าแย่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทตั้งแต่เมื่อใด คงได้ความเพียงว่าผู้ร้องครอบครองที่ดินพิพาทของตนเองตลอดมา ผู้ร้องจึงไม่อาจอ้างการครอบครองปรปักษ์ที่ดินพิพาทซึ่งเป็นของตนเองได้ เพราะการครอบครองปรปักษ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๘๒ จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเป็นการครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นเท่านั้น ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งว่าผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์

              

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

               มาตรา ๑๓๘๒ บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาห้าปีไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์