คำพิพากษาฎีกาที่ ๗๑๐๗/๒๕๖๑ 
               เมทแอมเฟตามีน ๒ เม็ดที่พบที่ห้องพักของจำเลยภายหลังการล่อซื้อเป็นของจำเลยมีไว้เพื่อเสพ และเป็นคนละส่วนกับเมทแอมเฟตามีน ๑๙๑ เม็ด ที่จำเลยกับพวกมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและพยายามจำหน่ายไปในคราวเดียวให้แก่ พ. จำเลยจึงมีเจตนาแยกการครอบครองเมทแอมเฟตามีน ๑๙๑ เม็ด และเมทแอมเฟตามีน ๒ เม็ด แตกต่างกัน การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีน ๑๙๑ เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและพยายามจำหน่ายกรรมหนึ่ง และฐานมีเมทแอมเฟตามีน ๒ เม็ด ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตอีกกรรมหนึ่ง
               โจทก์ฟ้องว่า จำเลยมีเมทแอมเฟตามีน ๑๙๓ เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย แต่ข้อเท็จจริงตามทางพิจารณาฟังได้ว่า เมทแอมเฟตามีนที่พบในภายหลัง ๒ เม็ด จำเลยมีไว้ในครอบครอง โดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นคนละส่วนกับเมทแอมเฟตามีน ๑๙๑ เม็ด ที่จำเลยกับพวกมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและพยายามจำหน่ายไปในคราวเดียวกัน ดังนี้ ศาลฎีกาย่อมลงโทษจำเลยฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตด้วยได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๙๒ วรรคสอง ประกอบมาตรา ๒๑๕ และ ๒๒๕ ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.๒๕๕๐ มาตรา ๓ เพราะเป็นข้อแตกต่าง ที่มิใช่สาระสำคัญและจำเลยมิได้หลงต่อสู้

               ตามฎีกานี้ จำเลยโทรศัพท์แจ้งให้ ว. ไปรับเมทแอมเฟตามีนที่ริมทางบริเวณป้ายขนส่งเพื่อนำไปมอบให้แก่ พ. ไม่ใช่ไปรับเมทแอมเฟตามีนจากจำเลยที่ห้องพักทั้งไม่ได้ความว่าจำเลยได้นำเมทแอมเฟตามีนจากห้องพักไปวางไว้ด้วยตนเองหรือใช้ให้บุคคลใดนำไปวาง
              
               ฎีกาที่ ๖๖๖๕/๒๕๖๐ การมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษเป็นเรื่องความรับผิดทางอาญา เมื่อ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๔ มิได้บัญญัติความหมายพิเศษของค่าว่า มีไว้ในครอบครอง ไว้ จึงต้องถือตามความหมายทั่วไปว่า การมียาเสพติดให้โทษอยู่ในความยึดถือหรือปกครองดูแลของตนโดยรู้ว่าเป็นยาเสพติดให้โทษเป็นการมีไว้ในครอบครองแล้ว
อ่านเพิ่มเติม ฎีกาที่ ๖๖๖๕/๒๕๖๐

ประมวลกฎหมายอาญา
               มาตรา ๙๑ เมื่อปรากฏว่าผู้ใดได้กระทำการอันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ศาลลงโทษผู้นั้นทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป แต่ไม่ว่าจะมีการเพิ่มโทษ ลดโทษ หรือลดมาตราส่วนโทษด้วยหรือไม่ก็ตาม เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว โทษจำคุกทั้งสิ้นต้องไม่เกินกำหนดดังต่อไปนี้
               (๑) สิบปี สำหรับกรณีความผิดกระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกินสามปี   (๒) ยี่สิบปี สำหรับกรณีความผิดกระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสามปีแต่ไม่เกินสิบปี
               (๓) ห้าสิบปี สำหรับกรณีความผิดกระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสิบปีขึ้นไป เว้นแต่กรณีที่ศาลลงโทษจำคุกตลอดชีวิต

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
               มาตรา ๑๙๒ ห้ามมิให้พิพากษา หรือสั่ง เกินคำขอ หรือที่มิได้กล่าวในฟ้อง
               ถ้าศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้อง ให้ศาล ยกฟ้องคดีนั้น เว้นแต่ข้อแตกต่างนั้นมิใช่ในข้อสาระสำคัญและทั้งจำเลยมิได้หลงต่อสู้ ศาลจะลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่ได้ความนั้นก็ได้
               ในกรณีที่ข้อแตกต่างนั้นเป็นเพียงรายละเอียด เช่น เกี่ยวกับเวลาหรือสถานที่กระทำความผิดหรือต่าง กันระหว่างการกระทำผิดฐานลักทรัพย์ กรรโชก รีดเอาทรัพย์ ฉ้อโกง โกงเจ้าหนี้ ยักยอก รับของโจร และ ทำให้เสียทรัพย์ หรือต่างกันระหว่างการกระทำผิดโดยเจตนากับประมาท มิให้ถือว่าต่างกันในข้อสาระสำคัญ ทั้งมิให้ถือว่าข้อที่พิจารณาได้ความนั้นเป็นเรื่องเกินคำขอหรือเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ เว้นแต่จะปรากฏแก่ศาลว่าการที่ฟ้องผิดไปเป็นเหตุให้จำเลยหลงต่อสู้ แต่ทั้งนี้ศาลจะลงโทษจำเลยเกินอัตราโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดที่โจทก์ฟ้องไม่ได้
               ถ้าศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงบางข้อดังกล่าวในฟ้อง และตามที่ปรากฏในทางพิจารณาไม่ใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ประสงค์ให้ลงโทษ ห้ามมิให้ศาลลงโทษจำเลยในข้อเท็จจริงนี้
               ถ้าศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงตามฟ้องนั้นโจทก์สืบสม แต่โจทก์อ้างฐานความผิดหรือบทมาตราผิด ศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยตามฐานความผิดที่ถูกต้องได้
               ถ้าความผิดตามที่ฟ้องนั้นรวมการกระทำหลายอย่าง แต่ละอย่างอาจเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเอง ศาลจะลงโทษจำเลยในการกระทำผิดอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่พิจารณาได้ความก็ได้