ประเด็น
               ๑.จำเลยที่ ๓ เป็นเจ้าหน้าที่ควบคุมผู้ต้องหาปฏิบัติหน้าที่สิบเวร ตามคำสั่งสถานีตำรวจ จำเลยเป็นผู้เก็บกุญแจห้องขัง โดยห้องทำงานของจำเลยที่ ๓ อยู่ระหว่างห้องยังเยาวชนและห้องขังหญิงซึ่งใช้ควบคุมผู้ต้องหา คือผู้ตาย ขณะเกิดเพลิงไฟไหม้ห้องขังดังกล่าวจำเลยที่ ๓ ไม่ได้อยู่ในอาคารสถานีตำรวจ ดังนี้ การที่เกิดเพลิงไหม้ห้องขังดังกล่าว ทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย การกระทำของจำเลยที่ ๓ เป็นการกระทำโดยประมาทหรือไม่
               ๒. โจทก์ฟ้องว่าเจตนาฆ่า ทางพิจารณาได้ความว่าเป็นการกระทำโดยประมาท ดังนี้ ศาลจะลงโทษตามข้อเท็จจริงที่ได้ความตามทางพิจารณาได้หรือไม่

คำพิพากษาฎีกาที่ ๗๕๘๑/๒๕๖๑ 
               จำเลยที่ ๓ เป็นเจ้าหน้าที่ควบคุมผู้ต้องหาปฏิบัติหน้าที่เป็นสิบเวรมีหน้าที่โดยตรงในการควบคุมและดูแลความปลอดภัยของผู้ต้องหา แต่ไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่โดยปราศจากเหตุอันสมควร เป็นการกระทำโดยงดเว้นการที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันผล คืออันตรายที่อาจเกิดขึ้นแก่ชีวิตของผู้ต้องหา เมื่อจำเลยที่ ๓ กระทำโดยปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามภาวะวิสัยและพฤติการณ์ และจำเลยที่ ๓ อาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอหรือไม่ การกระทำของจำเลยที่ ๓ เป็นการกระทำโดยประมาท แม้มีเหตุเพลิงไหม้ทำให้เกิดผลคือความตายของผู้ตายด้วย แต่ก็ไม่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำโดยประมาทของจำเลยที่ ๓ และผลคือความตายของผู้ตายขาดตอนลงเพราะถ้าจำเลยที่ ๓ อยู่ปฏิบัติหน้าที่ย่อมช่วยเหลือผู้ตายได้ทันเนื่องจากห้องทำงานของจำเลยที่ ๓ อยู่หน้าห้องขังเยาวชนและติดกับห้องขังหญิง ซึ่งขณะนั้นใช้ควบคุมผู้ตายรวมทั้งผู้ตายคนอื่น ผลคือความตายของผู้ตายก็จะไม่เกิดขึ้น ความตายของผู้ตายเป็นผลโดยตรงจากการกระทำโดยประมาทของจำเลยที่ ๓ จำเลยที่ ๓ มีความผิดฐานประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๑
               จำเลยที่ ๓ นำสืบว่าขณะเกิดเหตุจำเลยที่ ๓ ปฏิบัติหน้าที่โดย ชอบด้วยกฎหมายและพยายามช่วยเหลือผู้ต้องหาทั้งสี่อย่างเต็มที่แล้ว แต่ไม่สามารถช่วยผู้ต้องหาทั้งสี่ได้การนำสืบเช่นนี้นอกจากจำเลยที่ ๓ จะนำสืบต่อสู้ว่าไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้องแล้วยังนำสืบต่อสู้ ด้วยว่าไม่ได้กระทำโดยประมาท การที่โจทก์ฟ้องผิดไปว่าจำเลยเจตนาฆ่าผู้อื่นไม่เป็นเหตุให้จำเลยที่ ๓ หลงต่อสู้
               แม้ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาได้ความว่า จำเลยที่ ๓ ประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้องว่าจำเลยที่ ๓ เจตนาฆ่าผู้อื่น ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ ก็ ลงโทษตามข้อเท็จจริงที่ได้ความตามทางพิจารณาได้เพราะการกระทำโดยเจตนาและการกระทำโดยประมาทไม่ใช่ข้อแตกต่างในสาระสำคัญ และไม่ถือเป็นเรื่องเกินคำขอหรือเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๙๒ วรรคสองและวรรคสาม

                    ตามฎีกานี้ โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งหกมีหน้าที่ต้องชวยเหลือผู้ตายแต่ไม่ยอมช่วยเหลือเป็นเหตุให้ผู้ตายถูกไฟคลอกตาย การกระทำของจำเลยทั้งหกถือว่าร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการหน้าที่โดยมิชอบและมีเจตนาร่วมกันฆ่าผู้อื่น ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๙, ๘๓, ๑๕๗, ๒๘๘

ประมวลกฎหมายอาญา
               มาตรา ๒๙๑ ผู้ใดกระทำโดยประมาท และการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
               มาตรา ๑๙๒ ห้ามมิให้พิพากษา หรือสั่ง เกินคำขอ หรือที่มิได้กล่าวในฟ้อง
               ถ้าศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้อง ให้ศาล ยกฟ้องคดีนั้น เว้นแต่ข้อแตกต่างนั้นมิใช่ในข้อสาระสำคัญและทั้งจำเลยมิได้หลงต่อสู้ ศาลจะลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่ได้ความนั้นก็ได้
               ในกรณีที่ข้อแตกต่างนั้นเป็นเพียงรายละเอียด เช่น เกี่ยวกับเวลาหรือสถานที่กระทำความผิดหรือต่าง กันระหว่างการกระทำผิดฐานลักทรัพย์ กรรโชก รีดเอาทรัพย์ ฉ้อโกง โกงเจ้าหนี้ ยักยอก รับของโจร และ ทำให้เสียทรัพย์ หรือต่างกันระหว่างการกระทำผิดโดยเจตนากับประมาท มิให้ถือว่าต่างกันในข้อสาระสำคัญ ทั้งมิให้ถือว่าข้อที่พิจารณาได้ความนั้นเป็นเรื่องเกินคำขอหรือเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ เว้นแต่จะปรากฏแก่ศาลว่าการที่ฟ้องผิดไปเป็นเหตุให้จำเลยหลงต่อสู้ แต่ทั้งนี้ศาลจะลงโทษจำเลยเกินอัตราโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดที่โจทก์ฟ้องไม่ได้