คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๘๙๗/๒๕๖๑ 
               พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.๒๕๑๘ มาตรา ๓๖ ทวิ ได้บัญญัติมิให้ถือว่าที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเป็นที่ราชพัสดุ และให้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์เพื่อใช้ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม จากบทบัญญัติดังกล่าว เป็นผลทางกฎหมายให้ผู้ครอบครองทำกินในที่ดินดังกล่าวไม่อาจจะครอบครองทำกินบนที่ดินในเขตปฏิรูปอีกต่อไปนับแต่วันมีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขต เมื่อที่ดินพิพาทอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม แม้ผู้เสียหายซื้อที่ดินพิพาทจากผู้ขายโดยมีค่าตอบแทน และก่อนหน้านั้นมีการซื้อขายกันมาหลายทอดก็ตาม แต่ล้วนเป็นการซื้อขายหลังจากมีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้ที่ดินพิพาทอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมแล้ว จึงเป็นการซื้อขายที่ดินพิพาทจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิครอบครองหรือสิทธิทำกินที่กฎหมายให้การรับรองคุ้มครอง ผู้เสียหายจึงไม่มีสิทธิใด ๆ ในที่ดินพิพาท ดังนั้นแม้ผู้เสียหายจะตกลงทำหนังสือสัญญาเช่าที่ดินพิพาท และหนังสือสัญญาจะขายที่ดินพิพาท กับจำเลยที่ ๑ แล้วจำเลยทั้งสองเข้าครอบครองทำประโยชน์ หลังจากนั้น จำเลยที่ ๒ กลับนำที่ดินพิพาทไปยื่นขอรับการจัดสรรที่ดินตามคำขอเข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินก็ตาม เมื่อผู้เสียหายไม่มีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิใด ๆ ในที่ดินพิพาทแล้ว ผู้เสียหายจึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยอันที่จะร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองฐานร่วมกันพยายามยักยอกที่ดินพิพาทซึ่งเป็นความผิดต่อส่วนตัว พนักงานสอบสวนย่อมไม่มีอำนาจสอบสวน ตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๑๒๑ วรรคสอง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๑๒๐ ในข้อหาความผิดฐานร่วมกันพยายามยักยอกที่ดินพิพาท ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๑๙๕ วรรคสอง ประกอบมาตรา ๒๒๕
               ศาลอุทธรณ์ภาค ๓ เห็นว่า คำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นที่ให้ยกคำขอของโจทก์ที่ให้จำเลยทั้งสองคืนที่ดินพิพาทหรือใช้ราคาแก่ผู้เสียหายนั้นถูกต้องแล้ว แต่ไม่เห็นด้วยกับศาลชั้นต้นที่วินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสองกระทำความผิดฐานร่วมกันพยายามยักยอกที่ดินพิพาท ตาม ป.อ. มาตรา ๓๕๒ วรรคแรก ประกอบมาตรา ๘๓ ศาลอุทธรณ์ภาค ๓ ต้องแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นไปตามนั้น โดยพิพากษายืนบางส่วน กลับบางส่วน และมีคำพิพากษาใหม่แทนส่วนที่กลับนั้น ตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๒๔๒ (๔) ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา ๑๕ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๓ พิพากษากลับผลคำพิพากษาศาลชั้นต้นทั้งหมดโดยให้ยกฟ้องนั้นจึงไม่ชอบ

เพิ่มเติม
               ฎีกาที่ ๕๕๓๗/๒๕๖๑ ที่ดินพิพาทเดิมเป็นป่าสงวนแห่งชาติ แล้วกรมป่าไม้มอบให้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) จัดสรรให้เกษตรกรทำกินตามกฎหมาย หากโจทก์ซื้อที่ดินพิพาทมาจากบุคคลอื่นก็เป็นการซื้อขายที่ดินของรัฐ ไม่อาจอ้างสิทธิใช้ยันต่อรัฐได้ และหากประสงค์จะขอเข้ารับการจัดที่ดินต้องเข้าสู่กระบวนการพิจารณาตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการคัดเลือกเกษตรกรเข้าถือครองและทำประโยชน์ในที่ดินตามที่คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมกำหนด ตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.๒๕๑๘ มาตรา ๑๙ (๗) และมาตรา ๓๖ ทวิ ประกอบกับระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ฯ พ.ศ.๒๕๓๕ ซึ่งไม่แน่นอนว่าโจทก์จะได้รับการพิจารณาว่าเป็นเกษตรกรผู้มีสิทธิได้รับการจัดที่ดินรวมทั้งได้รับเอกสารสิทธิ ส.ป.ก. ๔-๐๑ หรือไม่ เพราะเจตนารมณ์ของบทบัญญัติแห่งกฎหมายมุ่งหมายในการจัดที่ดินให้แก่เกษตรกรผู้ไม่มีที่ดินของตนเองหรือมีที่ดินเล็กน้อยไม่เพียงพอแก่การครองชีพ แม้จะมีข้อผ่อนผันให้ผู้มีที่ดินจำนวนมากสามารถกระจายสิทธิให้แก่บุคคลอื่นได้ก็ตาม อีกทั้งที่ดินพิพาทมีการโต้แย้งการครอบครองระหว่างโจทก์และจำเลยซึ่งเคยเป็นสามีภริยากันและ ยังมิได้มีการออกเอกสารสิทธิ ส.ป.ก. ๔-๐๑ ให้แก่ผู้ใด จึงเป็นกรณีที่จะต้องมีการพิจารณาต่อไปว่าผู้ใดอยู่ในฐานะที่จะได้รับเอกสารสิทธิ ส.ป.ก. ๔-๐๑ ที่อนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทที่อยู่ในเขตปฏิรูปที่ดิน ดังนั้น โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหายทางอาญา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒ (๔) ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยความผิดฐานแจ้งความเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
               มาตรา ๒ ในประมวลกฎหมายนี้
               (๔) “ผู้เสียหาย” หมายความถึงบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำผิดฐานใดฐานหนึ่ง รวมทั้งบุคคลอื่นที่มีอำนาจจัดการแทนได้ ดังบัญญัติไว้ในมาตรา ๔, ๕ และ ๖
               มาตรา ๑๒๐ ห้ามมิให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีใดต่อศาล โดยมิได้มีการสอบสวนในความผิดนั้นก่อน
               มาตรา ๑๒๑ พนักงานสอบสวนมีอำนาจสอบสวนคดีอาญาทั้งปวง
               แต่ถ้าเป็นคดีความผิดต่อส่วนตัว ห้ามมิให้ทำการสอบสวนเว้นแต่จะมีคำร้องทุกข์ตามระเบียบ

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
               มาตรา ๒๔๒ เมื่อศาลอุทธรณ์ได้ตรวจสำนวนความและฟังคู่ความทั้งปวง หรือสืบพยานต่อไปดังบัญญัติไว้ในมาตรา ๒๔๐ เสร็จแล้ว ให้ศาลอุทธรณ์ชี้ขาดตัดสินอุทธรณ์โดยประการใดประการหนึ่ง ในสี่ประการนี้
               (๑) ถ้าศาลอุทธรณ์เห็นว่า อุทธรณ์นั้นต้องห้ามตามกฎหมาย ก็ให้ยกอุทธรณ์นั้นเสียโดยไม่ต้องวินิจฉัยในประเด็นแห่งอุทธรณ์
               (๒) ถ้าศาลอุทธรณ์เห็นว่า คำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นถูกต้อง ไม่ว่าโดยเหตุเดียวกันหรือเหตุอื่น ก็ให้พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นนั้น
               (๓) ถ้าศาลอุทธรณ์เห็นว่า คำชี้ขาดของศาลชั้นต้นไม่ถูกต้อง ให้กลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้นเสีย และพิพากษาในปัญหาเหล่านั้นใหม่
               (๔) ถ้าศาลอุทธรณ์เห็นว่า คำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นถูกแต่บางส่วน และผิดบางส่วน ก็ให้แก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นไปตามนั้น โดยพิพากษายืนบางส่วน กลับบางส่วน และมีคำพิพากษาใหม่แทนส่วนที่กลับ