คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๒๕๖/๒๕๖๕ 


                    จําเลยทั้งสองให้การในตอนแรกว่า ที่ดินพิพาททุกแปลงมิใช่ทรัพย์มรดกของ ก. และ ป. เพราะ ก. สละการครอบครองที่ดินก่อนตาย ส่วน ป. โอนที่ดินทุกแปลงแก่จําเลยที่ ๑ จึงไม่มีทรัพย์มรดกของบุคคลทั้งสองที่จะแบ่งแก่ทายาท แม้จําเลยทั้งสองให้การตอนหลังว่าฟ้องโจทก์ทั้งเจ็ดขาดอายุความเพราะนําคดีมาฟ้องเกินกำหนดเวลา ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๗๕๔ เป็นเรื่องที่จําเลยทั้งสองยกอายุความขึ้นตัดฟ้องโจทก์ทั้งเจ็ด มิใช่ยอมรับว่าที่ดินพิพาททุกแปลงเป็นทรัพย์มรดกของ ก. และ ป. อันจะถือว่าเป็นการยืนยันข้อเท็จจริงหลายทางไม่อาจเป็นไปได้ในคราวเดียวกัน คำให้การจําเลยทั้งสองไม่ขัดแย้งกันและเป็นคำให้การที่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๗๗ วรรคสอง คดีมีประเด็นว่า คดีโจทก์ทั้งเจ็ดขาดอายุความฟ้องเรียกมรดกหรือไม่ด้วย

 

เพิ่มเติม

                    ฎีกาที่ ๗๖๓๙/๒๕๖๐  จำเลยที่ ๑ ให้การในตอนแรกว่า ที่ดินพิพาทเป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ ๑ โดยซื้อที่ดินพิพาทจาก อ. ก่อนจดทะเบียนสมรสกับโจทก์แต่ยังไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ได้ในขณะนั้น ภายหลังเมื่อจดทะเบียนสมรสกับโจทก์แล้ว อ. จึงโอนที่ดินพิพาทแก่โจทก์อันเป็นการยืนยันว่าที่ดินพิพาทเป็นสินส่วนตัว แม้จำเลยที่ ๑ จะให้การในตอนหลังว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ เพราะโจทก์นำคดีมาฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายเป็นระยะเวลาเกินกว่า ๑ ปี ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๔๘๐ ก็เป็นเรื่องที่จำเลยที่ ๑ ยกอายุความขึ้นตัดฟ้องโจทก์เท่านั้น มิใช่เป็นการยอมรับว่าที่ดินพิพาทเป็นสินสมรส อันจะถือเป็นการยืนยันข้อเท็จจริงหลายทางไม่อาจเป็นไปได้ในคราวเดียวกัน จึงไม่ขัดแย้งกันเองและเป็นคำให้การที่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา ๑๗๗ วรรคสอง คดีย่อมมีประเด็นข้อพิพาทตามคำฟ้องและคำให้การของจำเลยที่ ๑ ว่าคดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ ๑ ขาดอายุความหรือไม่ และศาลชั้นต้นต้องวินิจฉัยในประเด็นดังกล่าวด้วย

 

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

                    มาตรา ๑๗๗ วรรคสอง ให้จำเลยแสดงโดยชัดแจ้งในคำให้การว่า จำเลยยอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วน รวมทั้งเหตุแห่งการนั้น