คำพิพากษาฎีกาที่ ๒๒๙๕/๒๕๖๕


                     จําเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายมอบอำนาจให้จําเลยที่ ๒ จดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จําเลยที่ ๓ แล้ว เบียดบังเอาเงินที่ขายได้เป็นประโยชน์ของจําเลยที่ ๑ และที่ ๒ ถือไม่ได้ว่าเป็นการจัดการมรดกโดยทั่วไปเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทตามอำนาจหน้าที่ของผู้จัดการมรดกตามประมวลกฎหมาย แพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๗๑๙ แต่เป็นการกระทำใดๆ กับที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกเพื่อประโยชน์ของจําเลยที่ ๑ และที่ ๒ โดยทุจริต แม้จําเลยที่ ๑ กระทำโดยอาศัยสิทธิการเป็นผู้จัดการมรดกก็ไม่อาจกระทำได้ หากปราศจากความยินยอมของทายาทโดยธรรมผู้มีสิทธิได้รับมรดกของผู้ตาย แม้จําเลยที่ ๒ ซื้อที่ดินพิพาทโดยสุจริต เสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ จําเลยที่ ๓ ก็ไม่ได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทเพราะจําเลยที่ ๓ ซื้อจากจําเลยที่ ๑ ซึ่งขายที่ดินพิพาทแล้วเบียดบังเอาเงินที่ขายได้ไปเป็นประโยชน์ของตนเองหรือผู้อื่น อันมิใช่เป็นการทำการอันจําเป็นเพื่อจัดการมรดกโดยทั่วไปตามที่กฎหมายให้อำนาจผู้จัดการมรดกให้กระทำได้ จําเลยที่ ๓ ไม่มีสิทธิดีกว่าจําเลยที่ ๑ ผู้ขาย

                    โจทก์และเด็กชาย อ. ซึ่งเป็นคู่สมรส และบุตรของผู้ตายที่ยังมีชีวิตและมีสิทธิได้รับมรดกของผู้ตายในฐานะทายาทโดยธรรมตามประมวลกฎหมายและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๒๙ ฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนขายที่ดินพิพาทระหว่างจําเลยที่ ๑ ผู้จัดการมรดกของผู้ตายและจําเลยที่ ๓ ซึ่งจําเลยที่ ๑ กระทำไปโดยมิชอบด้วยมาตรา ๑๗๑๙ ถือเป็นการใช้สิทธิติดตามเอาคืนซึ่งทรัพย์สินจากผู้ไม่มีสิทธิยึดถือไว้ตามมาตรา ๑๓๓๖ หาใช่เป็นกรณีที่โจทก์และทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกได้มาซึ่งที่ดินพิพาทโดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมไม่อาจอ้างการได้มาซึ่งที่ดินพิพาทที่ยังไม่ได้จดทะเบียนขึ้นต่อสู้จําเลยที่ ๓ ซึ่งซื้อที่ดินพิพาทมาโดยสุจริตและจดทะเบียนต่อ พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ ตามมาตรา ๑๒๙๙ วรรคสอง ไม่ จึงมีเหตุเพิกถอนการจดทะเบียนที่ดินพิพาทระหว่างจําเลยที่ ๑ กับจําเลยที่ ๓

 

เพิ่มเติม

                    ฎีกาที่ ๑๔๘๐/๒๕๖๓ เมื่อผู้ตายไม่ได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกให้แก่ผู้ใดแล้วต่อมาศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ ๑ เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย หลังจากนั้นจำเลยที่ ๑ ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ ๑ ในฐานะที่ตนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมและทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกด้วย เป็นการกระทำไปตามอำนาจหน้าที่โดยทั่วไปของผู้จัดการมรดกไม่จำต้องได้รับความยินยอมจากทายาท และการกระทำเช่นนี้ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๗๑๙ และมาตรา ๑๗๒๒ จำเลยที่ ๑ จึงมีอำนาจที่จะกระทำได้ นิติกรรมการโอนที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ ๑ ในฐานะผู้จัดการมรดกให้แก่จำเลยที่ ๑ ในฐานะส่วนตัวไม่ตกเป็นโมฆะ ตามมาตรา ๑๕๐ แม้จะทำให้โจทก์ทั้งสี่ผู้เป็นทายาทโดยธรรมได้รับความเสียหายไม่ได้รับมรดกที่ดินพิพาทก็เป็นเรื่องระหว่างโจทก์ทั้งสี่และจำเลยที่ ๑ จะว่ากล่าวกันต่างหาก ภายหลังจากจำเลยที่ ๑ ในฐานะผู้จัดการมรดกโอนที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ ๑ ในฐานะส่วนตัวแล้ว จำเลยที่ ๑ ย่อมมีสิทธิจดทะเบียนยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ ๒ ได้โจทก์ทั้งสี่ไม่ได้บรรยายฟ้องกล่าวอ้างว่า จำเลยที่ ๓ กระทำการโดยไม่สุจริต แต่กลับบรรยายฟ้องว่าแม้จำเลยที่ ๓ รับโอนมาโดยสุจริต เสียค่าตอบแทน และจดทะเบียนสิทธิโดยสุจริต ก็ไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาทตามหลักผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน เท่ากับโจทก์ทั้งสี่ยอมรับว่า จำเลยที่ ๓ รับซื้อฝากโดยสุจริต คดีจึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทว่า จำเลยที่ ๓ รับซื้อฝากโดยสุจริตและจดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตหรือไม่ แม้ศาลชั้นต้นยินยอมให้โจทก์ทั้งสี่นำสืบพยานหลักฐานกล่าวอ้างว่า จำเลยที่ ๓ รับซื้อฝากโดยไม่สุจริต ซึ่งเป็นการนำสืบพยานหลักฐานนอกเหนือไปจากคำฟ้อง คำให้การ อันเป็นการนำสืบไม่เกี่ยวแก่ประเด็นข้อพิพาทตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๘๖ วรรคสอง ไม่อาจรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ตามมาตรา ๘๗ (๑)การที่โจทก์ทั้งสี่มีสิทธิได้รับมรดกที่ดินพิพาทส่วนของผู้ตายเป็นการได้ทรัพยสิทธิในอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม ซึ่งโจทก์ทั้งสี่ยังไม่ได้จดทะเบียนการได้มาซึ่งที่ดินพิพาท จึงไม่อาจยกสิทธิการได้มาซึ่งที่ดินพิพาทดังกล่าวเป็นข้อต่อสู้จำเลยที่ ๓ ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยสุจริต เสียค่าตอบแทน และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๒๙๙ วรรคสอง และมาตรา ๑๓๐๐ โจทก์ทั้งสี่ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนขายฝากที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ ๒ กับจำเลยที่ ๓ ได้ เมื่อจำเลยที่ ๓ รับซื้อฝากที่ดินไว้โดยสุจริตแล้วจำเลยที่ ๒ ไม่ไถ่ถอนการขายฝาก กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทย่อมตกแก่จำเลยที่ ๓ โดยเด็ดขาด จำเลยที่ ๓ ย่อมมีสิทธิจดทะเบียนยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ ๔ ได้ โจทก์ทั้งสี่ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนให้ที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ ๓ กับจำเลยที่ ๔ ได้เช่นเดียวกัน เมื่อโจทก์ทั้งสี่ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมระหว่างจำเลยที่ ๒ กับจำเลยที่ ๓ และจำเลยที่ ๓ กับจำเลยที่ ๔ แล้ว การที่จะเพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนให้ที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ ๑ กับจำเลยที่ ๒ จึงไม่เป็นประโยชน์อีกต่อไป แม้จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ขาดนัดยื่นคำให้การและมิได้ฎีกาขึ้นมาด้วยแต่มูลความแห่งคดีระหว่างจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ กับจำเลยที่ ๓ เกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ ศาลฎีกาเห็นสมควรให้มีผลไปถึงจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๒๔๕ (๑) ประกอบมาตรา ๒๕๒

 

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

                    มาตรา ๑๗๑๙ ผู้จัดการมรดกมีสิทธิและหน้าที่ที่จะทำการอันจำเป็น เพื่อให้การเป็นไปตามคำสั่งแจ้งชัดหรือโดยปริยายแห่งพินัยกรรม และเพื่อจัดการมรดกโดยทั่วไป หรือเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดก