คำพิพากษาฎีกาที่ ๗๑๗/๒๕๖๓ 

               จำเลยถูกจับกุมครั้งแรกวันที่ ๑๔ มกราคม ๒๕๕๙ เจ้าพนักงานตำรวจแจ้งข้อกล่าวหา นำตัวจำเลยส่งศาลชั้นต้นขอฝากขัง และศาลชั้นต้นรับฝากขังจำเลยวันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๕๙ ซึ่งอยู่ในอายุความที่ศาลชั้นต้นออกหมายขังจำเลยไว้ แต่จำเลยได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างสอบสวนแล้วไม่มาศาลตาม กำหนด ศาลชั้นต้นออกหมายจับจำเลยวันที่ ๓ มีนาคม ๒๕๕๙ ก่อนโจทก์ยื่นฟ้อวันที่ ๒๒ มีนาคม ๒๕๕๙ ถือได้ว่าจำเลยอยู่ในอำนาจของศาลชั้นต้นแล้วตั้งแต่รับฝากขัง โจทก์ฟ้องคดีได้โดยไม่จำต้องนำตัวจำเลยมาศาลพร้อมฟ้อง คดีหาขาดอายุความไม่

 

เพิ่มเติม

               ฎีกาที่ ๒๗๐/๒๕๒๘ มาตรา ๙๕ วรรคแรก บัญญัติว่า “ในคดีอาญาถ้ามิได้ฟ้องและได้ผู้กระทำความผิดมายังศาลภายในกำหนดดังต่อไปนี้ นับแต่วันกระทำความผิดเป็นอันขาดอายุความ” แสดงว่าต้องฟ้องและได้ตัวผู้กระทำความผิดมายังศาลแล้วอายุความจึงจะหยุดนับ

 

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

               มาตรา ๑๖๕ ในคดีซึ่งพนักงานอัยการเป็นโจทก์ ในวันไต่สวนมูลฟ้อง ให้จำเลยมาหรือคุมตัวมาศาล ให้ศาลส่งสำเนาฟ้องแก่จำเลยรายตัวไป เมื่อศาลเชื่อว่าเป็นจำเลยจริงแล้ว ให้อ่านและอธิบายฟ้องให้ฟัง และถามว่าได้กระทำผิดจริงหรือไม่ จะให้การต่อสู้อย่างไรบ้าง คำให้การของจำเลยให้จดไว้ ถ้าจำเลยไม่ยอมให้การก็ให้ศาลจดรายงานไว้ และดำเนินการต่อไป

              

ประมวลกฎหมายอาญา

               มาตรา ๙๕ ในคดีอาญา ถ้ามิได้ฟ้องและได้ตัวผู้กระทำความผิดมายังศาลภายในกำหนดดังต่อไปนี้ นับแต่วันกระทำความผิด เป็นอันขาดอายุความ

               (๑) ยี่สิบปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกยี่สิบปี

               (๒) สิบห้าปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกกว่าเจ็ดปีแต่ยังไม่ถึงยี่สิบปี

               (๓) สิบปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกกว่าหนึ่งปีถึงเจ็ดปี

               (๔) ห้าปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกกว่าหนึ่งเดือนถึงหนึ่งปี

               (๕) หนึ่งปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งเดือนลงมา หรือต้องระวางโทษอย่างอื่น

               ถ้าได้ฟ้องและได้ตัวผู้กระทำความผิดมายังศาลแล้ว ผู้กระทำความผิดหลบหนีหรือวิกลจริต และศาลสั่งงดการพิจารณาไว้จนเกินกำหนดดังกล่าวแล้วนับแต่วันที่หลบหนีหรือวันที่ศาลสั่งงดการพิจารณา ก็ให้ ถือว่าเป็นอันขาดอายุความเช่นเดียวกัน