คำพิพากษาฎีกาที่ ๕๗๗๓/๒๕๖๒


 ระหว่างผู้ครอบครองที่ดิน กับ ผู้มีชื่อในโฉนดที่ดิน ภาระการพิสูจน์ตกแก่ผู้ครอบครองที่ดิน

               ฎีกาที่ ๕๗๗๓/๒๕๖๒ แม้ผู้ร้องทั้งสองกล่าวอ้างในคำร้องขอว่าผู้ร้องทั้งสองเป็น ผู้ครอบครองที่ดินพิพาท ทำให้ได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๖๗ ว่าเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง แต่ผู้คัดค้านเป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินพิพาทก็ได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๗๓ ว่าเป็นผู้มีสิทธิครอบครองเช่นกัน แต่มาตรา ๑๓๖๗ เป็นเพียงบทบัญญัติทั่วไป เมื่อที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมีโฉนดที่ดินซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ได้จดทะเบียนไว้ในทะเบียนที่ดินกฎหมายต้องการให้แสดงออกซึ่งกรรมสิทธิ์ในทางทะเบียนยิ่งกว่าการครอบครอง กรณีต้องบังคับตามมาตรา ๑๓๗๓ ภาระการพิสูจน์ตกแก่ผู้ร้องทั้งสอง

               ผู้ร้องทั้งสองมิใช่เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบ ครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๘๒ การที่ผู้ร้องทั้งสองเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ ของผู้คัดค้าน ย่อมเป็นการทำต่อผู้คัดค้านโดยผิดกฎหมายให้เสียหายแก่ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดในที่ดินพิพาทอันเป็นการทำละเมิด ผู้ร้องทั้งสองจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้นแก่ผู้คัดค้าน อันได้แก่การคืนทรัพย์สินอันผู้คัดค้านต้องเสียไปเพราะละเมิด รวมทั้งค่าเสียหายอันจะพึงบังคับให้ใช้เพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันได้ก่อขึ้นนั้นด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๓๘ วรรคสอง ผู้ร้องทั้งสองพร้อมบริวารต้องออกไปจากที่ดินพิพาทและใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าขาดประโยชน์ในที่ดินให้แก่ผู้คัดค้าน

 

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

                    มาตรา ๑๓๖๗ บุคคลใดยึดถือทรัพย์สินโดยเจตนาจะยึดถือเพื่อตน ท่านว่าบุคคลนั้นได้ซึ่งสิทธิครอบครอง 

               มาตรา ๑๓๗๓ ถ้าทรัพย์สินเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ได้จดไว้ในทะเบียนที่ดิน ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลผู้มีชื่อในทะเบียนเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง

 

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

               มาตรา ๘๔/๑ คู่ความฝ่ายใดกล่าวอ้างข้อเท็จจริงเพื่อสนับสนุนคำคู่ความของตน ให้คู่ความฝ่ายนั้นมีภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริงนั้น แต่ถ้ามีข้อสันนิษฐานไว้ในกฎหมายหรือมีข้อสันนิษฐานที่ควรจะ เป็นซึ่งปรากฏจากสภาพปกติธรรมดาของเหตุการณ์เป็นคุณแก่คู่ความฝ่ายใด คู่ความฝ่ายนั้นต้องพิสูจน์เพียงว่าตนได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขแห่งการที่ตนจะได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานนั้นครบถ้วนแล้ว