คำพิพากษาฎีกาที่ ๘๑๑๐/๒๕๖๑ 
               จำเลยที่ ๑ ให้การรับว่า จำเลยที่ ๑ ตกลงทำหนังสือสัญญาเงินกู้ตามฟ้องกับโจทก์ เพียงแต่ให้การต่อสู้ว่าโจทก์มิได้โอนเงินเกินแก่จำเลยที่ ๑ ตามจำนวนในหนังสือสัญญาเงินกู้ตามฟ้อง จำเลยที่ ๑ ไม่มีหนี้ที่ต้องรับผิดแก่โจทก์ ดังนี้ ศาลย่อมรับฟังว่าโจทก์กับจำเลยที่ ๑ ทำหนังสือสัญญาเงินกู้ตามฟ้องได้ตามคำรับ โดยโจทก์ไม่จำต้องปิดอากรแสตมป์เพื่อใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งตามประมวลรัษฎากร มาตรา ๑๑๘ ส่วนปัญหาว่าจำเลยที่ ๑ ต้องรับผิดตามจำนวนที่ระบุไว้ในหนังสือสัญญาเงินกู้หรือไม่เพียงใด โจทก์ย่อมมีสิทธินำสืบถึงที่มาของมูลหนี้และจำนวนหนี้ที่มีอยู่ก่อนจะแปลงมาเป็นหนี้เงินกู้ได้
               โจทก์นำหนี้ตามหนังสือสัญญาเงินกู้มาฟ้องบังคับให้จำเลยที่ ๒ ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ ๑ โดยอาศัยเหตุแห่งมูลหนี้ที่เกิดจากกิจการที่จำเลยทั้งสองร่วมกันรับจ้างก่อสร้างบ้านแก่โจทก์แล้วแปลงมาเป็นหนี้เงินกู้อันเป็นหนี้ร่วมที่จำเลยทั้งสองมีอยู่แต่เดิม แม้จำเลยที่ ๒ จะมิได้ลงลายมือชื่อในฐานะผู้กู้ แต่ผลของการแปลงหนี้หาทำให้ความรับผิดของจำเลยทั้งสองที่มีต่อโจทก์ในฐานะหนี้ร่วมของสามีภริยาระงับลงไม่ เพราะหนังสือสัญญาเงินกู้เป็นหนี้ที่สืบเนื่องมาจากกิจการที่จำเลยทั้งสองร่วมกันรับจ้างก่อสร้างบ้านแก่โจทก์อันเป็นหนี้ร่วมระหว่างจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๔๙๐ (๓)

เพิ่มเติม
               ฎีกาที่ ๑๘๕๒/๒๕๓๕ การที่จำเลยที่ ๒ สามีโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ร้องทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์โดยผู้ร้องยินยอมและให้ผู้ร้องสามารถเบิกจ่ายจากบัญชีได้ และจำนอง ทรัพย์พิพาทไว้แก่โจทก์ ย่อมมีเหตุผลให้เชื่อว่าจำเลยที่ ๒ กับผู้ร้องร่วมกันกระทำการดังกล่าวเพื่อนำเงินมาลงทุนทำการค้าขายพืชไร่ร่วมกัน ถือว่าเป็นหนี้ร่วมอันเกิดขึ้นเนื่องจากการงานซึ่งสามีภรรยาทำด้วยกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๙๐(๓) จำเลยที่ 2 กับผู้ร้องต้องร่วมกันรับผิด ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิขอกันส่วนของผู้ร้องจากทรัพย์พิพาท
               ฎีกาที่ ๕๙๑๗/๒๕๓๓ พฤติการณ์ที่ร้านค้าของจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นสามีภริยากันชื่อเหมือนกับชื่อหมู่บ้านที่โจทก์ส่งวัสดุก่อสร้างมาให้จำเลยทั้งสองเคยไปดูแลการทำงานของช่างก่อสร้างในหมู่บ้านดังกล่าวและบ้านของจำเลยทั้งสองถูกใช้เป็นสำนักงานโดยมีเสมียนเข้าไปทำงานในบ้านของจำเลยทั้งสอง จำเลยที่ ๒ ได้ลงลายมือชื่อในสัญญาชำระหนี้และบันทึกข้อความในฐานะภริยาผู้ให้ความยินยอมแสดงให้เห็นได้ว่ากิจการก่อสร้างหมู่บ้านดังกล่าวเป็นการงานที่จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นสามีภริยาทำด้วยกัน ดังนั้นหนี้ที่เกิดขึ้นเนื่องจากการงานดังกล่าวจึงเป็นหนี้ที่จำเลยที่ ๒ ต้องเป็นลูกหนี้ร่วมกันกับจำเลยที่ ๑ ด้วย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๙๐(๓)
               ฎีกาที่ ๘๐๐/๒๕๓๓ การที่จำเลยที่ ๒ ได้ให้คำรับรองต่อธนาคารผู้ให้กู้ว่าจำเลยที่ ๒ ทำงานเกษตรกับจำเลยที่ ๑ ผู้เป็นสามีและรับผูกพันว่าเงินที่จำเลยที่ ๑ กู้นั้นเป็นเงินที่นำไปเพื่อใช้ในการเกษตร หนี้เงินกู้ดังกล่าวจึงเป็นหนี้อันเนื่องจากการงานซึ่งสามีภรรยาทำด้วยกัน จำเลยทั้งสองจึงมีฐานะเป็นลูกหนี้ร่วม แม้จำเลยที่ ๒ ไม่ได้ลงชื่อในหนังสือกู้ร่วมกับจำเลยที่ ๑ ก็ตาม

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
               มาตรา ๑๔๙๐ หนี้ที่สามีภริยาเป็นลูกหนี้ร่วมกันนั้นให้รวมถึงหนี้ที่สามีหรือภริยาก่อให้เกิดขึ้นในระหว่างสมรส ดังต่อไปนี้
               (๑) หนี้เกี่ยวแก่การจัดการบ้านเรือนและจัดหาสิ่งจำเป็นสำหรับครอบครัว การอุปการะเลี้ยงดูตลอดถึงการรักษาพยาบาลบุคคลในครอบครัวและการศึกษาของบุตรตามสมควรแก่อัตภาพ
               (๒) หนี้ที่เกี่ยวข้องกับสินสมรส
               (๓) หนี้ที่เกิดขึ้นเนื่องจากการงานซึ่งสามีภริยาทำด้วยกัน
               (๔) หนี้ที่สามีหรือภริยาก่อขึ้นเพื่อประโยชน์ตนฝ่ายเดียวแต่อีกฝ่ายหนึ่งได้ให้สัตยาบัน