คำพิพากษาฎีกาที่ ๔๒๖๕/๒๕๖๓

               ดอกเบี้ยของเงินที่พนักงานอัยการโจทก์มีคำขอให้ใช้ราคาแทนทรัพย์สินของผู้เสียหายที่ยังไม่ได้รับคืนเป็นค่าเสียหายในทางทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสอง ซึ่งพนักงานอัยการจะมีคำขอเรียกดอกเบี้ยแทนโจทก์ร่วมไม่ได้ โจทก์ร่วมมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ในส่วนดอกเบี้ยของต้นเงินจำนวนดังกล่าวได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๔๔/๑ วรรคหนึ่ง ส่วนค่าขาดประโยชน์ ค่าเดินทางไปแจ้งความร้องทุกข์และติดตามรถคืน และ ค่าซ่อมรถ มิใช่ค่าเสียหายในทางทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสอง โจทก์ร่วมไม่อาจยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชดใช้คืนได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๔๔/๑

               ตามฎีกานี้ พนักงานอัยการโจทก์ฟ้องจำเลยว่า ลักเอารถยนต์กระบะของผู้เสียหายไปโดยทุจริต ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓, ๓๓๕ และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนเป็นเงิน ๙๗๗,๒๕๖ บาท แก่ผู้เสียหาย(โจทก์ร่วม) ทางพิจารณาได้ความว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการร่วมกันยักยอก

               ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ค่าขาดประโยชน์ ค่าเดินทางไปแจ้งความร้องทุกข์และติดตามรถคืน และค่าซ่อมรถนั้น ไม่ใช่ทรัพย์สินหรือราคาที่ผู้เสียหายสูญเสียไปเนื่องจากการกระทำผิด”

 

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

               มาตรา ๔๔/๑ ในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ ถ้าผู้เสียหายมีสิทธิที่จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทน เพราะเหตุได้รับอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย จิตใจ หรือได้รับความเสื่อมเสียต่อเสรีภาพในร่างกายชื่อเสียงหรือ ได้รับความเสียหายในทางทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลย ผู้เสียหายจะยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีอาญาขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนก็ได้