คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๗๔๑/๒๕๖๓

               การกระทำที่ถือว่าเป็นความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังนั้นเป็นการกระทำด้วยประการใด ๆ โดยไม่จำกัดวิธีการ เพียงแต่ให้สำเร็จผลเป็นการหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังหรือให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย ขณะผู้เสียหายอยู่กับจำเลยในบ้าน จำเลยพูดข่มขู่ว่าจะฆ่าผู้เสียหายหากผู้เสียหายออกไปจากบ้านเกิดเหตุ ผู้เสียหายรู้สึกกลัว จึงไม่ได้ออกไปไหน การกระทำของจำเลยจึงครบองค์ประกอบความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังหรือกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกายตาม ป.อ. มาตรา ๓๑๐ วรรคหนึ่ง

 

               ตามฎีกานี้ จำเลยฎีกาว่า จำเลยเพียงแต่ห้ามปรามมิให้ผู้เสียหายออกจากบ้าน ผู้เสียหายมิได้ถูกล่ามหรือพันธนาการใด ๆ หรือถูกทำร้ายร่างกาย การกระทำของจำเลยจึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดนั้น

 

เพิ่มเติม

               ฎีกาที่ ๕๗๕๑/๒๕๕๑ เมื่อจำเลยและ อ. ข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายแล้ว จำเลยและ อ. ไม่ยอมให้ผู้เสียหายออกจากห้องและบังคับให้นอนอยู่ในห้อง พฤติการณ์เช่นนี้ถือได้ว่าจำเลยและ อ. หน่วงเหนี่ยวหรือกักขังหรือกระทำด้วยประการใดให้ผู้เสียหายปราศจากเสรีภาพในร่างกายอันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา ๓๑๐ วรรคแรก แล้ว แม้หลังจากที่จำเลยและ อ. นอนหลับ ผู้เสียหายสามารถหนีออกมาได้ทั้งผู้เสียหายไม่ถูกพันธนาการก็หาทำให้การกระทำของจำเลยและ อ. ซึ่งเป็นการหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังหรือกระทำด้วยประการ ใดให้ผู้เสียหายปราศจากเสรีภาพในร่างกายแล้วไม่เป็นการหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังหรือกระทำด้วยประการใดให้ผู้เสียหายปราศจากเสรีภาพในร่างกายแต่อย่างใด

 

ประมวลกฎหมายอาญา

               มาตรา ๓๑๐ ผู้ใดหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่น หรือกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหก หมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

               ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคแรก เป็นเหตุให้ผู้ถูกหน่วงเหนี่ยวถูกกักขังหรือต้องปราศจากเสรีภาพในร่างกายนั้นถึงแก่ความตาย หรือรับอันตรายสาหัส ผู้กระทำต้องระวางโทษดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๙๐ มาตรา ๒๙๗ หรือมาตรา ๒๙๘ นั้น