คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๒๗๒/๒๕๖๓ 

               ขณะเกิดเหตุ ผู้เสียหายหันหลังให้จำเลย จำเลยจึงมีโอกาสเลือกฟัน แต่จำเลยก็ มิได้เลือกฟันในส่วนอวัยวะสำคัญของร่างกาย เมื่อผู้เสียหายล้มลงไป แม้จำเลยเข้ามาฟันซ้ำอีกหลายครั้ง แต่เมื่อมีคนร้องห้ามจำเลยก็หยุด และปล่อยให้ผู้เสียหายวิ่งหลบหนีโดยมิได้ติดตามทั้งที่สามารถกระทำได้ แม้อาวุธมีดที่จำเลยใช้ฟันจะมีขนาดใหญ่ แต่เมื่อพิจารณาบาดแผลตามผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์ ผู้เสียหายมีบาดแผลที่ใต้สะบักขวา ๒ แผล สะบักซ้ายและสะโพกลึกถึงชั้นไขมันใต้ผิวหนัง นิ้วนางขวาเอ็นขาด และมีบาดแผล ที่หัวแม่เท้าซ้าย ไม่ปรากฏบาดแผลฉกรรจ์ถึงขนาดที่หากไม่ได้รับการรักษาทันท่วงทีผู้เสียหายอาจถึงแก่ความตายอันพอจะทำให้เห็นได้ว่าจำเลยมีเจตนาฆ่าผู้เสียหาย ประกอบกับผู้เสียหายก็เบิกความว่า ไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน จึงน่าเชื่อว่าจำเลยเพียงแต่มีเจตนาทำร้ายผู้เสียหายเท่านั้น หาได้มีเจตนาฆ่าผู้เสียหายไม่

               ผู้เสียหายเบิกความว่าพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลประมาณ ๒ วัน แล้วจึงกลับไปรักษาตัวต่อที่บ้านประมาณ ๑ เดือน ระหว่างรักษาตัวผู้เสียหายไม่สามารถทำงานได้เนื่องจากไม่สามารถยกของ ความเห็นของแพทย์ระบุว่า คาดว่าบาดแผลจะหายเป็นปกติ ๔ สัปดาห์ ย่อมรับฟังได้ว่าผู้เสียหายถูกจำเลยทำร้ายจนต้อง ป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่ายี่สิบวัน หรือจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวัน อันถือว่าเป็นอันตรายสาหัสตามความหมายของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๗ (๘) แล้ว การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส

 

เพิ่มเติม

               ฎีกาที่ ๕๗๕/๒๕๔๘ ตามรายงานผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์มีความเห็นว่าบาดแผลของผู้เสียหายต้องใช้เวลารักษาเกินกว่า ๒๑ วัน แต่ผู้เสียหายเบิกความเพียงว่า บาดแผลที่ ผู้เสียหายได้รับจากการถูกทำร้ายต้องใช้เวลารักษา ๒๑ วัน จึงหายเป็นปกติ โดยมิได้เบิกความให้เห็นว่าผู้เสียหายต้องเจ็บป่วยด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่า ๒๐ วัน หรือจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่า ๒๐ วัน อย่างไร ลำพังกระดูกโหนกแก้มขวาหักจึงยังถือไม่ได้ว่าเป็นอันตรายสาหัส ส่วนบาดแผลของผู้เสียหายที่ต้องใช้เวลารักษาเกิน ๒๑ วัน เป็นเรื่องการรักษาบาดแผลให้หายเป็นปกติเท่านั้น ย่อมรับฟังไม่ได้ว่าผู้เสียหายถูกทำร้ายจนต้องป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนา หรือจนประกอบกรณียกิจตาม ปกติไม่ได้เกินกว่า ๒๐ วัน อันจะถือว่าเป็นอันตรายสาหัส ตามความหมายของ ป.อ. มาตรา ๒๙๗ (๘) คงรับฟังได้เพียงว่าจำเลยกับพวกร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้เสียหายจนเป็น เหตุให้เกิดอันตรายแก่กาย ซึ่งเป็นความผิดตามมาตรา ๒๙๕

 

ประมวลกฎหมายอาญา

               มาตรา ๒๙๗ ผู้ใดกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกาย จนเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำร้ายรับอันตรายสาหัส ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงสองแสนบาท

               อันตรายสาหัสนั้น คือ

               (๘) ทุพพลภาพ หรือป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่ายี่สิบวัน หรือจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวัน