คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๕๙๘๐/๒๕๖๐
                จำเลยใช้ยานพาหนะบนทางหลวงมีน้ำหนักบรรทุกเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้จำนวนมาก โดยไม่คำนึงว่าจะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงเพียงใดต่อสภาพทางหลวงแผ่นดินซึ่งเป็นสมบัติของส่วนรวมและมีไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกัน การกระทำดังกล่าวของจำเลยทำให้ผู้ร่วมใช้เส้นทางสัญจรไปมาต้องเสี่ยงต่ออันตรายที่เกิดจากสภาพของยานพาหนะที่บรรทุกน้ำหนักเป็นจำนวนมาก จนเกินกว่าที่ผู้ขับจะควบคุมให้แล่นไปได้อย่างปลอดภัย พฤติการณ์ในการกระทำความผิดของจำเลยนับว่าร้ายแรง แม้ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน ยังไม่สมควรที่จะรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย

ข้อเท็จจริง
                โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ.๒๕๓๕ มาตรา ๖๑, ๗๓/๒
                คดีนี้จำเลยขับรถพ่วงบรรทุกข้าวสาร มีน้ำหนักยานพาหนะของรถลากจูงและรถพ่วงรวมน้ำหนักบรรทุก จำนวน ๖๕,๗๓๐ กิโลกรัม ซึ่งเกินกว่าน้ำหนักที่กำหนดตามประกาศของผู้อำนวยการทางหลวง เป็นจำนวน ๑๕,๒๓๐ กิโลกรัม
                ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุก ๒ เดือน จำเลยให้การรับสารภาพ คงจำคุก ๑ เดือน
                จำเลยอุทธรณ์
                ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษปรับ ๑๐,๐๐๐ บาท อีกสถานหนึ่ง ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงปรับ ๕,๐๐๐ บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ ๑ ปี..ฯลฯ
                โจทก์ฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
                ศาลฎีกาพิพากษาแก้เป็นว่า ไม่รอการลงโทษจำคุก ไม่ลงโทษปรับ ...ฯลฯ

                ฎีกาที่ ๑๓๑/๒๕๖๑ คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการได้ออกประกาศห้ามมิให้บุคคลใดขนย้ายหัวมันสำปะหลังสดหรือมันเส้นอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่างรวมกัน ซึ่งมีปริมาณครั้งละตั้งแต่หนึ่งหมื่นกิโลกรัมขึ้นไป ออกจากท้องที่อำเภอที่ระบุไว้ในประกาศ ก็เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในด้านราคา ปริมาณ และรักษาเสถียรภาพระบบตลาดมันสำปะหลังสดและมันเส้นในประเทศ การกระทำความผิดของจำเลยโดยการฝ่าฝืนประกาศของคณะกรรมการการดังกล่าว นอกจากจะส่งผลกระทบต่อราคามันสำปะหลังสดและมันเส้นแล้ว ยังก่อให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ทั้งเป็นการใช้ยานพาหนะบรรทุกหัวมันสำปะหลังสดบนทางหลวงที่มีน้ำหนักบรรทุกเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้เป็นจำนวนมาก โดยไม่คำนึงว่าจะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงเพียงใดต่อสภาพทางหลวงแผ่นดินซึ่งเป็นสมบัติของส่วนรวมและมีไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกัน ทำให้ผู้ร่วมใช้เส้นทางสัญจรไปมาต้องเสี่ยงต่ออันตรายที่อาจเกิดจากสภาพของยานพาหนะที่บรรทุกน้ำหนักเป็นจำนวนมาก พฤติการณ์ในการกระทำความผิดของจำเลยนับว่าร้ายแรง จึงไม่สมควรที่จะรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย

เพิ่มเติม
                ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๖ บัญญัติว่า “ผู้ใดกระทำความผิดซึ่งมีโทษจำคุกหรือปรับ และในคดีนั้นศาลจะลงโทษจำคุกไม่เกินห้าปีไม่ว่าจะลงโทษปรับด้วยหรือไม่ก็ตามหรือลงโทษปรับ ถ้าปรากฏว่าผู้นั้น
                (๑) ไม่เคยรับโทษจำคุกมาก่อน หรือ
                (๒) เคยรับโทษจำคุกมาก่อนแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ หรือเป็นโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือ
                (๓) เคยรับโทษจำคุกมาก่อนแต่พ้นโทษจำคุกมาแล้วเกินกว่าห้าปี แล้วมากระทำความผิดอีก โดยความผิดในครั้งหลังเป็นความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
                และเมื่อศาลได้คำนึงถึงอายุ ประวัติ ความประพฤติ สติปัญญา การศึกษาอบรม สุขภาพ ภาวะแห่งจิต นิสัย อาชีพ และสิ่งแวดล้อมของผู้นั้น หรือสภาพความผิด หรือการรู้สึกความผิด และพยายามบรรเทาผลร้ายที่เกิดขึ้น หรือเหตุอื่นอันควรปรานีแล้ว ศาลจะพิพากษาว่าผู้นั้นมีความผิดแต่รอการกำหนดโทษหรือกำหนดโทษแต่รอการลงโทษไว้ ไม่ว่าจะเป็นโทษจำคุกหรือปรับอย่างหนึ่งอย่างใดหรือทั้งสองอย่าง เพื่อให้โอกาสกลับตัวภายในระยะเวลาที่ศาลจะได้กำหนดแต่ต้องไม่เกินห้าปีนับแต่วันที่ศาลพิพากษา โดยจะกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติของผู้นั้นด้วยหรือไม่ก็ได้...”
                มาตรา ๕๖ ใช้คำว่า “ไม่เคยรับโทษจำคุกมาก่อน” หมายความว่า ไม่เคยได้รับโทษจำคุกจริงๆ มาก่อน... ฎีกาที่ ๑๙๘๓/๒๔๙๗ แม้จำเลยเคยต้องคำพิพากษาให้จำคุก แต่ให้รอการลงโทษไว้ แล้วมาทำผิดขึ้นอีกภายในกำหนดที่รอไว้ ศาลจะรอการลงโทษในความผิดครั้งหลังนี้อีกได้ และเมื่อรอการลงโทษในคดีหลังนี้อีก ก็จะลงโทษที่รอไว้ไม่ได้
                โทษที่จะรอการลงโทษได้นั้นต้องเป็นโทษจำคุก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๖  จะรอการลงโทษกักขังไม่ได้(ฎีกาที่ ๗๒๑๔/๒๕๓๗)
                ฎีกาที่ ๘๖๕๖/๒๕๔๘ แม้คดีก่อนเป็นโทษจำคุกของศาลทหารถือว่าเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน
                ในคดีนั้นศาลจะลงโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หมายความถึง โทษที่ศาลจะลงจริงๆ ไม่ว่าความผิดนั้นจะมีอัตราโทษเท่าใดก็ตาม
                ในการกระทำความผิด “หลายกรรมต่างกัน” ตามมาตรา ๙๑ ซึ่งศาลต้องลงโทษผู้นั้นทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป การพิจารณาว่าจะรอการลงโทษตามมาตรา ๕๖ ได้หรือไม่นั้น ต้องแยกพิจารณาโทษจำคุกแต่ละกระทง มิใช่เอาโทษจำคุกทุกกระทงมารวมกัน เช่น หากศาลพิพากษาให้ลงโทษจำคุกจำเลยเป็นรายกระทง กระทงละ ๒ ปี รวม ๕ กระทง เป็นโทษจำคุก ๑๐ ปี เช่นนี้ ศาลใช้ดุลพินิจรอการลงโทษได้ โดยถือว่าศาลพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยเป็นคดีๆ ไป ตามกระทงความผิดที่โจทก์รวมฟ้องมาไม่เกินคดีละ ๕ ปี (ฎีกาที่ ๗๘๙/๒๕๒๔, ๑๕๙๔/๒๕๒๓, ๑๑๐๒/๒๕๒๕)
อ้างอิง
เกียรติขจร วัจนะสวัสดิ์. คำอธิบายกฎหมายอาญา ภาค ๑ บทบัญญัติทั่วไป พิมพ์ครั้งที่ ๑๐ แก้ไขเพิ่มเติม. กรุงเทพมหานคร:  สำนักพิมพ์พลสยามพริ้นติ้ง(ประเทศไทย), ๒๕๕๑.

สหรัฐ กิติ ศุภการ. หลักและคำพิพากษากฎหมายอาญา พิมพ์ครั้งที่ ๒ปรับปรุงใหม่. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์ อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด(มหาชน), ๒๕๕๗.

พระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ.๒๕๓๕
                มาตรา ๖๑ เพื่อรักษาทางหลวง ผู้อำนวยการทางหลวงมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษาห้ามใช้ยานพาหนะบนทางหลวงโดยที่ยานพาหนะนั้นมีน้ำหนัก น้ำหนักบรรทุกหรือน้ำหนักลงเพลาเกินกว่าที่กำหนด หรือโดยที่ยานพาหนะนั้นอาจทำให้ทางหลวงเสียหาย
                ประกาศของผู้อำนวยการทางหลวงตามวรรคหนึ่งต้องได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมทางหลวงสำหรับทางหลวงพิเศษ ทางหลวงแผ่นดิน และทางหลวงสัมปทาน หรือได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมทางหลวงชนบท สำหรับทางหลวงชนบท หรือได้รับอนุมัติจากผู้ว่าราชการจังหวัดสำหรับทางหลวงท้องถิ่น
                ในกรณีที่มีเหตุฉุกเฉินหรืออุบัติเหตุเกิดขึ้นทำให้เกิดความเสียหายแก่ทางหลวงหรือไม่ปลอดภัยแก่การจราจรในทางหลวง ให้เจ้าพนักงานซึ่งผู้อำนวยการทางหลวงแต่งตั้งให้ควบคุมทางหลวงมีอำนาจประกาศห้ามใช้ยานพาหนะบนทางหลวงนั้นได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด โดยให้ปิดประกาศนั้นไว้ในที่เปิดเผย ณ บริเวณที่มีเหตุฉุกเฉินหรืออุบัติเหตุเกิดขึ้นนั้น
                มาตรา ๗๓/๒ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๕๙ วรรคหนึ่ง หรือฝ่าฝืนประกาศของผู้อำนวยการทางหลวงตามมาตรา ๖๑ วรรคหนึ่ง หรือประกาศของเจ้าพนักงานซึ่งผู้อำนวยการทางหลวงแต่งตั้งให้ควบคุมทางหลวงตามมาตรา ๖๑ วรรคสาม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ